จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 56 – ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา

Newsletters

แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ ณ ประเทศญี่ปุ่น

        ประเทศไทยก็เหมือนกับนานาประเทศ ที่วิทยาการคำนวณได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในรายวิชาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. ๒๕๖๐) ซึ่งทำให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะได้เรียนเกี่ยวกับวิทยาการคำนวณ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจและสามารถใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวันอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการศึกษาของประเทศ คณาจารย์และนักศึกษาของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยเล็ก ๆ ขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งได้รวบรวมผู้ที่สนใจงานทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษาและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา โดยใช้ชื่อกลุ่มวิจัยดังกล่าวว่า “Computational Thinking Research Group” หรือ “ILCT Research Group” ILCT Research Groupได้ทำงานวิจัยและออกแบบกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้วิทยาการคำนวณมาตั้งแต่ปี 2561 โดยได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการยกระดับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาการคำนวณสำหรับครูผู้สอน นักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

(ดูผลงานเพิ่มเติมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=oe21W8TFiY4)

        ในปี 2562 นี้ ILCT Research Group ได้รับเชิญไปร่วมงาน Computer Science World in Asia 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยที่เวทีนี้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ศึกษา มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าหนึ่งร้อยคนจากหลากหลายประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ตุรกี อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยด้วย ILCT Research Group เป็นหนึ่งในตัวแทนของประเทศไทยที่ได้รับเชิญไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานนี้ด้วย โดยมี ดร.วรารัตน์ วงศ์เกี่ย อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และ น.ส. วีณา เนาวประทีป และ น.ส. อริญชยา ตรีคุณประภา นักศึกษาปริญญาเอก เป็นตัวแทนไปนำเสนองาน สำหรับงานที่ ILCT Research Group ได้เลือกไปนำเสนอนั้น เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจัดกิจกรรม “ค่ายส่งเสริมทักษะทางวิทยาการคำนวณและวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสังคม Minesweeper Robot Camp” ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานของหุ่นยนต์ผ่านประสาทสัมผัสของร่างกายแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า กิจกรรม unplugged ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากตลอดช่วงเวลาของการนำเสนอแบบโปสเตอร์ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานที่ให้ความสนใจการนำเสนอของ ILCT Research Group นั้น ส่วนใหญ่เป็นครูจากประเทศญี่ปุ่น

        ในการไปร่วมงานครั้งนี้ นอกจากการไปนำเสนอผลงานแล้ว ยังได้เรียนรู้อีกว่าประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการคำนวณในโรงเรียนในปี 2563 และงานนี้ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ครูผู้ที่จะต้องสอนรายวิชานี้ของประเทศญี่ปุ่นได้เห็นว่าประเทศอื่น ๆ จากทั่วเอเชียมีการจัดการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างไรบ้าง และครูจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมช่วงเช้าของวัน นอกจากการฟังบรรยายเกี่ยวกับทิศทางการจัดการเรียนการสอนของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังมีช่วงที่ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่มเพื่อให้ครูได้เล่าถึงสถานการณ์และปัญหาทางด้านความรู้และอุปกรณ์ที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย สำหรับกิจกรรมช่วงบ่ายหลังจากฟังบรรยายจากบริษัทชั้นนำที่ผลิตสื่อการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้ครูได้ลองปฏิบัติจริงในสถานการณ์จำลอง ซึ่งได้มีการจำลองสถานการณ์ว่า หากต้องจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณภายใต้ห้องเรียนที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ ครูจะต้องคำนึงถึงอะไรและจะแก้ปัญหาอย่างไรบ้างอีกด้วย

        จะเห็นได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการเตรียมการอย่างดีเพื่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้อีกว่าประชากรของประเทศญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างดี จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับครูท่านหนึ่งที่มาชมโปสเตอร์ของทีมเรา ครูท่านนั้นพูดว่า “เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากเราพูดถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ประเทศญี่ปุ่นก็จะเป็นประเทศต้น ๆ ที่เรานึกถึงว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีซึ่งจะเห็นได้จากโลโก้หรือแบรนด์ของสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ว่าในวันนี้สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีรอบตัวเรา ไม่มีแบรนด์จากญี่ปุ่นเลย (คุณครูชี้ไปที่สิ่งของรอบ ๆ ตัวพวกเราซึ่งมีทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา จอแสดงผล และอื่น ๆ) ครูยังพูดอีกว่าเรา (ญี่ปุ่น) ช้า ช้ามาก และเราหวังว่าในวันข้างหน้าเราจะกลับมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอีกครั้ง” นั่นคงเป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มวิจัยเล็ก ๆ อย่างเรา จึงได้ถูกเชิญไปร่วมงานนี้

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 389 views