จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 60 – ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา

Newsletters

นโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 4.0 อย่างยั่งยืน

โชคชัย ยืนยง
รศ.ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์
จิรัฐิติกาล พิมพ์วิชัย
ไชยพงษ์ เรืองสุวรรณ
ทรงศักดิ์ จีระสมบัติ
พรชัย เจดามาน

     ประเทศไทยประกาศยุทธศาสตร์การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) เพื่อความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และนำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ไทยแลนด์ 4.0 เป็นยุคที่ประเทศไทยต้องสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเองภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยระดมความคิดในการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงต่าง ๆ ก็ประกาศนโยบายและยุทธศาสตร์การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนี่งในนั้นก็มีกระทรวงศึกษาธิการที่มีสโลแกน “การศึกษา 4.0” โดยมีการพัฒนาแนวคิดดังนี้

    การศึกษา 1.0 เป็นยุค พ.ศ. 2503 หรือเรียกว่า หลักสูตร 2503 (ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ในปี พ.ศ. 2464 ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนตามตำรา ไม่ได้กำหนดเป็นหลักสูตร) เป็นยุคที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะ 4 ด้าน คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา การวัดผลวัดเป็นองค์รวม โดยตัดสินเป็นร้อยละ ใครสอบผ่านร้อยละ 50 ถือว่าผ่าน ตํ่ากว่าเป็นการสอบตกต้องเรียนซํ้าชั้น การสอนของครู เน้นการบรรยาย เป็นลักษณะบอกเล่า จดในกระดานหรือตามคำบอก ครูว่าอย่างไรนักเรียนจะเชื่อครูทั้งหมด นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ได้ฟังครูอย่างเดียว หนังสือเรียนสำคัญที่สุด สื่อการสอนกระดาน ชอล์ค บัตรคำ รูปภาพ โครงสร้างเวลา 4 : 3 : 3 : 2 ประถมต้นเรียน 4 ปี ประถมปลายเรียน 3 ปี มัธยมต้นเรียน 3 ปี มัธยมปลายสายสามัญเรียน 2 ปี สายอาชีพเรียน 3 ปี หลักการ/แนวคิด สนองความต้องการของสังคม เป็นหลักสูตรแบบเน้นวิชา

    การศึกษา 2.0 เป็นยุค พ.ศ. 2521 หลังจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลง ประชากรมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนหลักสูตร เป็นการเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ ให้มีระดับประถมศึกษา 6 ปี ยกเลิกชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ระดับมัธยมศึกษา 6 ปี ระดับมัธยมศึกษาใช้อักษรย่อว่า “ม.” ทั้งมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย การจัดการเรียนการสอนเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มีวิชาเลือกมากมายนักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัดความสนใจ เริ่มมีสื่อการสอนที่เร้าใจ เช่น ภาพสไลด์ วิดีโอ ภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นสื่อในการจัดการเรียนสอน การวัดประเมินผลเป็นการประเมินแยกส่วน หมายถึงประเมินเป็นรายวิชา สอบตกรายวิชาใดก็สามารถซ่อมในรายวิชานั้นๆ ไม่มีการเรียนซ้ำชั้น

    การศึกษา 3.0 เป็นยุค 2551 จากข้อจำกัดของหลักสูตรการศึกษาพุทธศักราช 2521 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 และพบว่า มีความสับสนของผู้ปฏิบัติการในสถานศึกษา เป็นหลักสูตรเนื้อหาแน่นเกินไปเรียนทั้งวัน มีปัญหาในการเทียบโอน และปัญหาคุณภาพผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ จึงเปลี่ยนมาใช้ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยเพิ่มสมรรถสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน มีการกำหนดตัวชี้วัดมาให้ เป็นการจัดหลักสูตรที่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆ ของโลกยุคปัจจุบัน มีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขัน และร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก จุดหมายของหลักสูตร มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ

ภาพที่ 1 สภาพการเรียการสอนที่เข้าสู่การศึกษา 4.0 มากขึ้น
ที่มา: https://www.prachachat.net/education/news-245331

การศึกษา 4.0 (Education 4.0) เป็นทางออกของปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น เศรษฐกิจล้มเหลว การเมืองล้มเหลว สังคมล้มเหลว เป้าหมายคือ ต้องการให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อตอบสนองการสร้างนวัตกรรมของประเทศ ในยุคการศึกษา 4.0 นั้นการเรียนการสอนมุ่งสอนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม  ดังนั้นการศึกษายุคใหม่ต้องเน้นแสวงหาการเรียนรู้ได้เอง อย่างท้าทาย สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดความรู้เดิม คิดและประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้ เหมาะกับตนเอง สังคม ตามสถานะการณ์ การจัดการศึกษา 4.0 จึงต้องนำเอาหลักการ เกี่ยวกับยุคสมัยใหม่ ที่ตรงความสนใจของ ชนพื้นเมืองดิจิทัล ที่มีชีวิตในโลกไซเบอร์ ซึ่งประกอบด้วยการจัดการศึกษาที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันบนไซเบอร์ โดยใช้ขีดความสามารถของระบบเชื่อมโยงทางฟิสิคัลกับไซเบอร์ ที่มีอุปกรณ์สมัยใหม่ช่วย เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ

ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิดของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้วางนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการผ่านการระดมสมองและการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่า การบริหารจัดการการศึกษาในห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 4.0 อย่างยั่งยืนต้องการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ดังแผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 4.0 อย่างยั่งยืน

      นโยบายเป็นพลวัตในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการการศึกษาเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการศึกษา 3.0 สู่การศึกษา 4.0 ของประเทศไทย ในศตวรรษที่ 21 การปลูกฝังแนวคิดให้แก่เยาวชนและพลเมืองเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 นอกจากนั้นครูผู้สอนต้องการทักษะในการหาความรู้ การจัดการ และการออกแบบการเรียนการสอนของตนเอง ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมียุทธศาสตร์และภาวะผู้นำในการส่งเสริมให้เกิดค่านิยมและเป้าหมายร่วมขององค์กร ชนิดของผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ประกอบด้วยผู้นำยุทธศาสตร์ ผู้นำโครงสร้างองค์กร ผู้นำการปฏิบัติ ผู้นำด้านบุคคล ผู้นำทักษะ ผู้นำการจัดการ และผู้นำค่านิยมร่วมขององค์กร

เอกสารอ้างอิง

Office of the Education Council. (2017). Policies and strategies for educational development. Bangkok: Office of the Education Council.

Office of the Education Council. (2010). Strategies for developing and producing human resource in Thailand in the second decade of educational reform (B.E. 2552-2561). Bangkok: Prikwan Graphic.

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 423 views