หน้า 5 จาก 7

การเปลี่ยนแปลงจากสัตว์น้ำสู่สัตว์บก

          การเกิดสัตว์บกกลุ่มแรกๆเริ่มขึ้นในปลายยุคดีโวเนียน บรรพบุรุษของสัตว์บกมาจากปลาโลบฟิน (lobe-finned fish) ซึ่งเป็นปลากระดูกแข็งที่มีกระดูกและกล้ามเนื้อแผ่จากลำตัวเข้าไปในครีบ ปลาเหล่านี้เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ทั่วไปตามหนองบึง ปัญหาที่ต้องเผชิญเมื่อต้องขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกคือ สภาวะแห้งขาดน้ำ ดังนั้นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มแรกๆจึงต้องมีเกล็ดคลุมตัวและเมื่อตัวแห้งมากๆก็จะลงไปในน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ในเรื่องการหายใจจากเดิมตอนเป็นสัตว์น้ำหายใจโดยใช้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำผ่านทางเหงือก เมื่อมาอยู่บนบกจึงต้องวิวัฒนาการโครงสร้างให้เหมาะกับการหายใจมาเป็นปอดโดยใช้ออกซิเจนในอากาศ คาดว่าปอดของสัตว์บกวิวัฒนาการมาจากกระเพาะลมซึ่งสัตว์น้ำใช้ในการลอยตัวนั่นเอง นอกจากนี้ระบบที่เกี่ยวข้องกับการหายใจที่จะต้องวิวัฒนาการไปพร้อมๆกันคือระบบไหลเวียนโลหิต ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของการวิวัฒนาการอวัยวะสูบฉีดโลหิตคือ หัวใจ ขึ้นมา

ภาพปลาโลบฟิน เปรียบเทียบกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกพวกแรกๆ

ซากดึกดำบรรพ์ Tiktaalik roseae มีอายุประมาณ 375 ล้านปี สมัยยุคดีโวเนียน เป็นปลาน้ำตื้นขนาดใหญ่
ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของสัตว์น้ำกับสัตว์บก เพราะพบลักษณะของครีบที่มีกระดูกอยู่ภายใน

 

หน้า 1 2 3 4 5 6 7