วิเคราะห์เทคโนโลยีสารสนเทศผ่านการให้ความหมาย
เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์
การจะเกิดความรู้ความเข้าใจในบางสิ่งบางอย่างอย่างถ่องแท้นั้น มักจะมีวิธีการศึกษาวิเคราะห์อยู่หลากหลายรูปแบบหรือหลากหลายวิธีการ แต่โดยทั่วไปวิธีการหรือรูปแบบที่มักทำกันคือการเริ่มต้นที่การเพ่งพินิจพิจารณาจากความหมายที่หน่วยงาน องค์กร นักปราชญ์ และนักวิชาการต่าง ๆ กล่าวไว้ โดยอาจจะดูตั้งแต่อดีตไปจนถึงปัจจุบันก็จะเป็นการดี เช่นเดียวกันกับการที่จะทำความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น เพื่อให้บทความเรื่องนี้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะนำเสนอความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ท่านผู้รู้นำเสนอไว้ในที่ต่าง ๆ ทั้งมีความเหมือนกันบ้างและแตกต่างกันบ้าง เพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์และสรุปให้เห็นเป็นภาพชัดขึ้นต่อไป
ความหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี
วชิราพร พุ่มบานเย็น (2545, หน้า 2) ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่า เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อให้สิ่งต่างมีประโยชน์ในทางปฏิบัติ และอุตสาหกรรม
สานิตย์ กายาผาด (2548, หน้า 11) ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ดังนี้ เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์การศึกษาพัฒนาความรู้ต่าง ๆ ก็เพื่อให้เข้าใจในธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาทางมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2548, หน้า 2) ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ดังนี้ เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ การศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ ก็เพื่อให้เข้าใจในธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ และหาทางนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์
จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับความหมายของเทคโนโลยีนี้สามารถสรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์ใช้ความรู้จากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แก่มวลมนุษยชาติและสังคมโดยรวม โดยจะเห็นได้จากที่เวลามนุษย์และสังคมเกิดปัญหาขึ้น เทคโนโลยีที่มนุษย์ผลิตขึ้นจะถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการแก้และบรรเทาปัญหาได้ ดังนั้น เทคโนโลยีจึงจัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสามารถเป็นอุปกรณ์พัฒนาสังคมได้
ความหมายเกี่ยวกับสารสนเทศ
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (2542, หน้า 2) กล่าวถึงความหมายของสารสนเทศว่า สารสนเทศ (Information) คือข้อความรู้ที่ได้จากการประมวลจากข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น จนได้เป็นข้อความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ครรชิต มาลัยวงศ์ (2543, หน้า 5) ให้ความหมายของสารสนเทศว่า สารสนเทศคือผลลัพธ์ของการประมวลผลข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจำแนก จัดกลุ่ม การคำนวณ และพยากรณ์ทางสถิติ การเปรียบเทียบ
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2548, หน้า 3) ให้ความหมายของสารสนทศไว้ว่า
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
สรุปแล้ว สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นความรู้จนทำให้เกิดเป็นประโยชน์ด้านต่าง ๆ ต่อมนุษย์และสังคม ดังจะเห็นได้จากที่เวลาเกิดความไม่ชัดเจนหรือไม่มีคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินดำเนินการ ฉะนั้น สารสนเทศจึงเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าต่อผู้นำไปใช้ในการแก้ไขหรือต้องการทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์ได้
วิเคราะห์เทคโนโลยีสารสนเทศผ่านการให้ความหมาย
จากที่ได้ประมวลความหมายทั้งของเทคโนโลยีและสารสนเทศในข้างต้นดังกล่าว จึงได้มีนักวิชาการที่พอจะยกเป็นตัวอย่างในการให้ความหมายของทั้งสองคำเมื่อรวมกันแล้ว ดังนี้
สานิตย์ กายาผาด (2548, หน้า 1) เสนอไว้ว่า คำว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) หมายถึง การนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับงานสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่สำคัญสองสาขาคือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม
สุขุม เฉลยทรัพย์และคณะ (2551, หน้า 6) กล่าวว่า คำว่า เทคโนโลยี หมายถึง ประดิษฐ์กรรม (innovate) ที่มีความสัมพันธ์กับการผลิต การประมวลผล และการจำแนกแจกจ่ายสารสนเทศไปยังผู้ใช้ เมื่อรวมกันระหว่างเทคโนโลยีและสารสนเทศ เรียกสั้น ๆ ว่า IT มาจากคำว่า Information Technology
ดังนั้น เมื่อจะทำการวิเคราะห์จากการให้ความหมายของแต่ละคำและความหมายที่เมื่อนำสองคำมารวมกันแล้ว จะเห็นได้ถึงความเชื่อมต่อของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ซึ่งได้แก่เทคโนโลยีและข้อมูลหรือหลักฐานที่รวบรวมได้มาเพื่อที่จะบันทึกไว้ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากที่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมารวมกันแล้วทำให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งเชิงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือเมื่อจะวิเคราะห์ประโยชน์หรือคุณค่าที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถพิจารณาดูได้จากผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นดังนี้
จากที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถกล่าวสรุปได้ว่าการรู้และเข้าใจความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ความหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี เกี่ยวกับสารสนเทศ และเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศโดยรวม ย่อมทำให้เกิดภาพชัดถึงการที่ปัจเจกบุคคล ชุมชน และสังคม ควรได้มีและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดคุณค่าในทุกระดับชั้น ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ ปรากฏการณ์ในทางที่ไม่ดีในสังคมสามารถบรรเทาหรือแก้ไขให้หมดไปด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยขับเคลื่อน
อ้างอิง
ครรชิต มาลัยวงศ์. (2543). แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ไอทีกับสารสนเทศทางการเกษตร. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักหอสมุด ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ.
วชิราพร พุ่มบานเย็น. (2545). เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์. กรุงเทพฯ : ซอฟท์เพรส.
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต. (2542). รายงานการวิจัยเรื่อองความต้องการบัณฑิตและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตสถาบันราชภัฏตามทัศนะของผู้ประกอบการ. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏสวนดุสิต.
สานิตย์ กายาผาด. (2548). เอกสารประกอบการสอนวิชาการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยสารคาม.
สุขุม เฉลยทรัพย์ และคณะ. (2551). เทคโนโลยีสารสนเทศ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
อินเทอร์เน็ต
มหาวิทยาลัยธนบุรี (Thonburi University). thonburi-u.ac.th. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565.
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (Rajabhat Maha Sarakham University). rmu.ac.th. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565.
http://flukeloveskb.blogspot.com/2012/06/1.html. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565.
http://www.tanti.ac.th/Com-tranning/IT/technof1.html. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565.
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…