จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 68 – นวัตกรรมจากสถาบัน

Newsletters

การพัฒนาความเข้าใจระบบนิเวศป่าชายเลนโดยใช้เกมกระดาน Mangrove Survivor

เรื่อง : นางลลิต์ภัทร กิจเกียรติพงษ์ 1, ผศ.ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์2

        ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศบนพื้นดิน น้ำจืด และ มหาสมุทร ทำให้สิ่งชีวิตและไม่มีชีวิตในระบบนิเวศนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ มนุษย์ใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากผลิตภัณฑ์จากระบบนิเวศนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน ทำให้ในปี พ.ศ. 2558 องค์การสหประชาชาติ (United Nations, 2015) ได้ประกาศเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย งานวิจัยชิ้นนี้จึงสามารถตอบสนองเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ถึง 3 เป้าหมายคือ เป้าหมาย 4 (Quality Education) สร้างหลักประกันการศึกษาที่เท่าเทียม ทุกคนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมความเข้าใจและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับของการศึกษาไทยในอนาคตต่อไป และจากที่กล่าวมาข้างต้น ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงพื้นดินและน้ำทะเลเข้าด้วยกัน จึงกล่าวได้ว่า งานวิจัยนี้ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 14 (Life Below Water) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และข้อที่ 15 )Life on Land) ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืนด้วย
งานวิจัยนี้ได้พัฒนาเกมกระดานเพื่อเป็นสื่อหลักในการเรียนรู้ โดยใช้หอยในป่าชายเลนชนิดต่าง ๆ เป็นตัวหลักในการดำเนินเกม เนื้อหาของเกมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศป่าชายเลน เกมกระดานถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Serious Game ของ Garris, Ahlers, และ Driskell (2000) ผู้วิจัยใช้สถานการณ์ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนทำภารกิจที่ระบุในการ์ดประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นสถานการณ์ให้วิเคราะห์ หรือข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งปรากฏในรูปแบบของ ข้อความ รูปภาพ หรือ คลิป เมื่อผู้เรียนทำภารกิจสำเร็จจะได้รับแต้มคะแนน เพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะในเกม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เล่นจำนวน 4 -6 คน ดังนั้นการเรียนรู้ผ่านเกมกระดานนี้ จึงมีการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์ที่ต้องร่วมมือและแข่งขันกันขึ้นกับบริบทหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่ม

        ผลการใช้เกมกระดานพบว่า ผู้เรียนสามารถพัฒนาความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศป่าชายเลน ผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบที่มีต่อระบบนิเวศ อีกทั้งผู้เรียนสะท้อนเชิงบวกว่าสื่อชุดนี้ เหมาะสมที่ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสืบค้นผลงานวิจัยฉบับเต็มที่ได้รับการติพิมพ์เผยแพร่ได้ที่ Gitgeatpong, L., & Ketpichainarong, W. (2022). Fostering Students’ Understanding in Mangrove Ecosystem: A Case Study Using the Mangrove Survivor Board Game. Simulation & Gaming, 53(2), 194-213. DOI: 10.1177/10468781221075143.

Reference
Garris, R., Ahlers, R., & Driskell, J. E. (2002). Games, motivation, and learning: A research and practice model. Simulation & Gaming, 33(4), 441–467. https://doi.org/10.1177/1046878102238607
United Nations. (2015). Transforming Our World by 2030: A New Agenda for Global Action Zero. Draft of the Outcome Document for the UN Summit to Adopt the Post-2015 Development Agenda. New York: United Nations. Retrived From: https://sustainabledevelopment. un.org/post2015/transformingourworld/publication

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 56 views