จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 68 – สาระน่ารู้ 1

Newsletters

ปีใหม่ : เทศกาลส่งมอบความสุขหรือความปรารถนาดีต่อกัน

เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์

         สาระน่ารู้ฉบับนี้ ผู้เขียนจะเล่าถึงความรู้สึกต่อบรรยากาศการก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่ ปี 2566 ซึ่งเป็นธรรมดาเมื่อเทศกาลปีใหม่มาถึง หลายคนจะเดินทางไปสวัสดีปีใหม่กับญาติมิตร เพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนที่รู้จักมักคุ้นกันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นญาติทางสายเลือดหรือเป็นคนที่รู้จักกันบนพื้นฐานของการไปมาหาสู่หรือทำงานในเส้นสายเดียวกัน ดังนั้น เมื่อปีใหม่ย่างกรายเข้ามา ทุกคนจึงอาศัยช่วงเวลาเช่นนี้ที่ได้หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ประจำ ไปแวะกล่าวทักทายสวัสดีปีใหม่ แต่ด้วยเป็นลักษณะสังคมแบบไทย ๆ เมื่อไปมาหาสู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการไปพบปะพูดคุยกันด้วยสถานะไหนก็ตาม แต่ละคนมักจะมีอะไรติดไม้ติดมือไปด้วย จะเรียกว่าเป็นเครื่องแทนความรู้สึกดี ๆ ต่อกันก็ได้ หรือเมื่อโอกาสดี ๆ เช่นนี้ผ่านเข้ามา การที่ได้มีของฝากกันและกันย่อมเป็นนัยยะแห่งการระลึกถึงกันได้เหมือนกัน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เมื่อได้มาเจอกันแล้วมีของฝากหรือของติดไม้ติดมือไปฝากบ้าง ก็น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศมิตรภาพระหว่างกันได้ดีทีเดียว ส่วนการไปเจอกันเฉย ๆ โดยไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปด้วยก็ไม่ถือว่าเลวร้ายและไม่ได้เป็นเรื่องของการเสียมารยาทอะไร เพราะเรื่องจะมีของฝากหรือไม่มีในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก คงมีแค่เพียงปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการมอบสิ่งของในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้มาทับซ้อนกับการมองว่าไม่เหมาะสม เพราะหมิ่นเหม่ต่อการที่จะถูกตีความว่าเป็นการให้สินบนหรือเป็นการเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนก็ได้ สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอความคิดเห็นเป็น 2 ทางดังนี้
        1. มองในแง่การมอบความรัก สำหรับการมองเรื่องการมอบสิ่งของในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นนัยแห่งการแสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน และความระลึกถึงกันและกันของคนที่รู้จักมักคุ้นกัน ยิ่งถ้าไม่ได้พบเจอกันนาน เมื่อโอกาสเช่นนี้มาถึง จึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่จะมีของฝากหรือสิ่งของที่พอจะหยิบยื่นให้กันและกันได้ กล่าวคือในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ละคนก็จะอยู่ในสถานะทั้งเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ไปในขณะเดียวกัน บางคนที่มีญาติมิตรหรือคนที่รู้จักจำนวนมาก ย่อมมีของที่จะมอบหรือของที่จะได้รับมากตามไปด้วย แต่ในบรรดาการให้สิ่งของเหล่านี้แก่กันและกันถึงแม้จะเป็นไปตามเทศกาลหรือเป็นการแสดงออกอย่างเหมาะสมกับกาลและบุคคลก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเทศกาลมาถึงแล้ว การไม่มีของฝากแก่ใครๆ แล้วจะเป็นการไม่เหมาะสมหรือไม่ดีก็ไม่ใช่ เพียงแต่เมื่อมีปัจจัยที่จะสามารถบริหารจัดการให้เหมาะสมกับกาลสมัยได้ ก็ไม่ถือว่าจะมีอะไรเสียหายหรือจะต้องมีอะไรให้คิดมากนั่นเอง
        2. มองในแง่การเรียกรับสิ่งของ การมองในลักษณะนี้อาจจะมองว่าเป็นในแง่ลบก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นการส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมการมอบความรัก ความสุข ความห่วงใยแก่กันและกันในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ใช้สิ่งของเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ และอาจมองว่าเป็นการป้องกันการที่จะมีการให้สินบนหรืออามิสสินจ้างต่างตอบแทนกันผลประโยชน์ต่อกันก็ได้ เพราะการใช้ชีวิตหรือการทำงานของแต่ละคนนั้นย่อมจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่แล้ว ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าจะมีบางคนที่จะใช้เทศกาลหรือการมอบสิ่งของให้เนื่องในเทศกาลเป็นการต่างตอบแทนการให้ผลประโยชน์ระหว่างกันนั่นเอง สรุปแล้ว ทางที่เหมาะสมที่สุดคือการส่งมอบความสุขระหว่างกันด้วยคำอวยพรหรือปิยวาจาน่าจะเป็นการดีที่สุด ทั้งเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมความโปร่งใส สุจริต ตรวจสอบได้ ตรงไปตรงมา และอาจจะเป็นการลดบรรยากาศการตึงเครียดต่อการบังคับขู่เข็ญเรียกรับสิ่งของไปในขณะเดียวกันด้วย

        จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนอยากจะสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคม ด้วยเหตุการณ์ในลักษณะนี้ย่อมจะมีคนตีความหรืออธิบายความไปต่าง ๆ ซึ่งแทบจะหาความเหมือนกันนั้นได้ยาก เพราะแต่ละคนจะใช้ประสบการณ์ที่ตนสั่งสมมาเป็นพื้นฐานในการมองเป็นหลัก กล่าวคือบางคนอาจมองว่าเป็นเพียงการมอบสิ่งของที่เป็นสื่อแทนความรู้สึกรักและคิดถึงกันเท่านั้น เรียกว่าทั้งปีทั้งชาติ ถ้าไม่มีเทศกาลเช่นนี้ ก็ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้มาเจอกัน ดังนั้น เมื่อโอกาสเช่นนี้มาถึง การมอบสิ่งของแทนความรักและความคิดถึงกันย่อมไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย อีกประการหนึ่ง อาจเป็นการดีเสียด้วยซ้ำ เพราะช่วยทำให้เศรษฐกิจการค้าขายในสังคมขยายวงกว้างขึ้นด้วย ส่วนถ้าจะมองว่าอาจทำให้เป็นช่องทางทำให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรืออามิสสินจ้างก็ได้ เพราะการให้ในเทศกาลเช่นนี้ย่อมอาจถูกถามได้ว่าทำไมต้องมอบสิ่งของให้กันด้วย ไม่ให้ไม่ได้หรือให้เพียงคำอวยพรหรือการช่วยเหลืออย่างอื่นมิได้ใช่ไหม ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงควรให้แค่เพียงคำอวยพรหรือความปรารถนาดีต่อกันก็พอแล้ว ไม่ควรให้สิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะอาจจะทำให้เกิดการตีความไปในทางลบได้ ในฐานะผู้เขียนจึงขอฝากแง่คิดไว้ 2 ทางให้ได้อ่านพินิจพิจารณากันตามอัธยาศัย ส่วนจะตัดสินเป็นประการใด คงมีเพียงผู้รับและผู้ให้เท่านั้นว่าที่จะรู้ว่าให้ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องขนาดไหน แต่เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนไว้ว่า ททมาโน ปิโย โหตุ แปลว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ส่วนจะให้อะไรคงเป็นหน้าที่ที่แต่ละคนต้องพิจารณากันเอง เพราะอย่างไรเสีย การให้ย่อมดีกว่าการตระหนี่ถี่เหนียวอยู่ดี

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 41 views