ดัชนีชี้วัดวารสาร...เลือกวารสารอย่างไรให้ได้คุณภาพ
เรื่อง : อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง
ในปัจจุบันมีวารสารทางวิชาการจากหลากหลายสำนักพิมพ์ถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักวิจัยหรือผู้เขียนที่ต้องการเลือกวารสารให้ตรงกับศาสตร์และสาขาของผลงานวิจัยของตนเอง แต่ทั้งนี้การเลือกวารสารที่มีคุณภาพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผล ทำให้ผลงานวิจัยของตนเองได้รับการอ้างอิงหรือถูกกล่าวถึงในวงวิชาการได้อย่างมาก ในฉบับนี้เรามาทำความรู้จักกับดัชนีชี้วัดคุณภาพวารสารที่นิยมใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งมีตัวชี้วัดชนิดต่างๆ ดังนี้ค่ะ
Impact Factor (IF) หรือ Journal Impact Factor (JIF) คือ ค่าดัชนีวารสารที่วัดจำนวนครั้งโดยเฉลี่ย ที่บทความของวารสารชื่อนั้นจะได้รับการอ้างอิงในแต่ละปี ใช้ข้อมูลย้อนหลัง 2 และ 5 ปีล่าสุด Impact Factor มักถูกใช้เพื่อประเมินคุณภาพวารสาร เปรียบเทียบ และ จัดอันดับวารสาร (Journal Ranking) ช่วยประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกวารสารเพื่อการตีพิมพ์ผลงานวิชาการของนักวิจัย วารสารที่มีค่าเฉลี่ยการอ้างอิงสูงจะได้รับความนิยมมากกว่าวารสารที่มีค่าเฉลี่ยการอ้างอิงต่ำ สามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูล Web of Science (WOS), Journal Citation Reports (JCR)
h-index ค่าที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการอ้างถึง (Citations) กับลำดับของบทความที่ถูกอ้างถึง (Article Rank Number) โดยจำนวนการอ้างถึง ต้องมากกว่า หรือเท่ากับ ลำดับของบทความที่ถูกอ้างถึง เช่น นักวิจัย A ได้รับค่า h index = 10 หมายความว่า นักวิจัย A มีผลงานบทความวิจัยตีพิมพ์จำนวน 10 เรื่อง โดยทุกๆ บทความนั้น ได้รับการอ้างอิงอย่างน้อย 10 ครั้งหรือ มากกว่า
ค่า h-index ประกอบด้วย 2 ค่า คือจำนวนการอ้างถึงบทความวารสาร (Citations) และจำนวนบทความที่มีการตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ (Number of Publications) แสดงความสัมพันธ์กัน ซึ่งข้อมูลทั้งสองจำนวนนี้ มีปรากฏในฐานข้อมูลประเภทการอ้างอิงเท่านั้น เช่น ISI Web of Science, Scopus และ TCI ของประเทศไทย โดยค่า h-index ของแต่ละฐานข้อมูลจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนบทความ จำนวนวารสาร และจำนวนการอ้างอิงที่แต่ละบทความได้รับในช่วงเวลาที่กำหนด ของแต่ละฐานข้อมูลจึงทำให้การคำนวณค่า h-index แตกต่างกันด้วย สามารถสืบค้นหาค่า h-index ได้จาก SCImago Journal Rank, Google Scholar, Scopus เป็นต้น
Quartile Score (Q) เป็นค่าวัดระดับวารสารวิชาการในแต่ละสาขาวิชา (Subject Categories) โดยจัดกลุ่มคุณภาพของวารสาร เป็น 4 กลุ่มคือ Q1 Q2 Q3 Q4 ซึ่งสามารถใช้เทียบข้ามสาขาได้
Q1 = top position (the highest 25% of data) เป็นกลุ่มวารสารที่มีคุณภาพดีที่สุดในสาขานี้
Q2 = middle-high position (อยู่ระหว่าง top 50% และ top 25%) เป็นกลุ่มวารสารที่มีคุณภาพในระดับที่ 2 ของสาขานี้
Q3 = middle-low position (อยู่ระหว่าง top 75% และ top 50%) เป็นกลุ่มวารสารที่ที่มีคุณภาพในระดับที่ 3 ของสาขานี้
Q4 = bottom position (bottom 25%) เป็นกลุ่มวารสารที่มีคุณภาพในระดับต่ำที่สุดในสาขานี้
ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากแหล่งข้อมูล Journal Citation Report, JCR (แบบเป็นสมาชิก) และ SCImago Journal Rank
CiteScore เป็นการวัดคุณภาพของวารสาร โดยคำนวณจากอัตราส่วนจำนวนการได้รับการอ้างอิงต่อจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ใน 3 ปีย้อนหลัง ของวารสารชื่อหนึ่งๆ ซึ่งจะทำการคำนวณหาค่าในทุกเดือน สามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูล Scopus
การเลือกวารสารที่ดีและมีคุณภาพ นอกจากจะทำให้ผลงานได้รับการถูกอ้าวอิงแล้ว ยังสามารถนำไปประกอบการพิจารณาการจัดสรรทุนวิจัย รางวัลสำหรับนักวิจัย รวมถึงยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการประกันคุณภาพของสถาบันการศึกษาและการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยอีกด้วย จากตัวชี้วัดคุณภาพวารสารที่กล่าวมาทั้งหมด คาดว่าน่าจะเป็นข้อมูลประกอบการเลือกวารสารและเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ
ที่มา
• ดุษณี ดำมี (2559) การเลือกใช้ฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อประเมินคุณภาพการวิจัย. วารสาร Mahidol R2R e-Journal, 3(1), มกราคม – มิถุนายน 2559
• อิสรีย์ อภิญญา (2562) แนวทางการสืบค้นและแปลผลข้อมูลหน่วยวัดคุณภาพวารสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในฐานข้อมูล TCI และฐานข้อมูล Scopus. วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. 42(1), มกราคม – มีนาคม 2562 หน้า 3-22.
• https://library.cmu.ac.th/HtmlDetail/Detail/101/main สืบค้น ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2565
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…