จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 65 – สาระน่ารู้ 10

Newsletters

Block Based Coding ด้วย บอร์ด Micro:Bit

เรื่อง : พงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร

        ปัจจุบัน เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัลหรือที่เรียกว่ายุคเศรษฐกิจใหม่ จากการที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน เช่น เราใช้ระบบการสื่อสารข้อมูล คอมพิวเตอร์ ตลอดจนใช้ระบบสารสนเทศ ระบบการทำธุรกรรมทางการเงินหรือแม้กระทั้งการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาช่วยในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่าในยุคสังคมดิจิทัลนี้ การเรียนรู้ coding จึงถือเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่เด็ก ๆ ควรได้รับ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การนำชุดคำสั่ง coding หลาย ๆ ชุดคำสั่งมารวมกันจนเกิดเป็นโปรแกรม นอกจากนี้ การเรียนรู้ coding ยังช่วยให้เด็ก ๆ เกิดกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล และเกิดการเรียนรู้การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

        การใช้ coding เพื่อสอนเด็ก ๆ ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น วิธีการเรียนแบบ unplugged coding (คือ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์) กับ วิธีการเรียน coding แบบปกติ (คือ ใช้คอมพิวเตอร์)

        การเรียน coding แบบปกติ (ใช้คอมพิวเตอร์) มีทั้งการเรียนด้วยรูปแบบวิธีการจำลองเหตุการณ์ หรือ simulation และเรียนแบบวิธีการเขียนคำสั่งลงไปที่ตัวอุปกรณ์โดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “microcontroller” โดยตรง ซึ่งในปัจจุบันก็มี microcontroller ให้เลือกใช้มากมายหลายยี่ห้อ และสามารถใช้ร่วมกับการเขียนโค้ดด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ได้หลายภาษา เช่น ภาษา C ภาษา BASIC ภาษา Pascal ภาษา Assemble ภาษา php ภาษา python และ ภาษา java เป็นต้น เพื่อสั่งการให้ microcontroller ทำงาน แต่ทั้งนี้ การใช้ภาษาต่าง ๆ ในรูปแบบของ Type-based coding เหล่านี้จะมีความยากตรงที่ บางครั้งการเขียนโค้ดหลาย ๆ บรรทัดนั้น บางครั้งอาจทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถทราบได้ว่าตรงไหนผิด หรือกว่าจะหาตำแหน่งที่ผิดได้เจอได้นั้นก็กินระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ทำให้ไม่สามารถอัพโหลดและสั่งให้ microcontroller ทำงานได้ สายไฟฟ้าที่ใช้ในการต่อวงจรมีความยากและเยอะในการทำความเข้าใจหรือบางครั้งเมื่อเด็ก ๆ อยากลองกลับมาทำเองกลับพบว่าไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เคยผ่านการเรียนมาแล้วและไม่สามารถกลับมาเรียนรู้ต่อเองที่บ้านได้  ปัจจุบัน จึงได้มีการพัฒนาการเรียนรู้วิธีการ coding ให้ง่ายขึ้นเพื่อจูงใจผู้เรียนโดยผ่านการเรียนรู้แบบลากบล็อกหรือที่เรารู้จักกันว่า block-based coding

        หนึ่งใน block-based coding ที่เป็นที่นิยมและสามารถนำมาใช้สอนได้ทั้งรูปแบบ simulation และแบบเขียนคำสั่งลงไปที่ตัวอุปกรณ์ microcontroller โดยตรง ก็คือ โปรแกรม Microsoft MakeCode for micro:bit ซึ่งใช้คู่กับ microcontroller ที่มีชื่อเรียกว่า “micro:bit” หรือที่เราเรียกกันว่าบอร์ด “micro:bit” บอร์ด micro:bit เป็นอีกหนึ่ง microcontroller ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากที่จะนำมาใช้ในการสอน block -based coding เนื่องจากเป็นบอร์ดที่ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องลงโปรแกรมเพื่อเขียนโค้ด สามารถเขียนโค้ดแบบออนไลน์ได้ และมีในรูปแบบโทรศัพท์มือถืออีกด้วย ตัวโปรแกรมเองสามารถเขียนได้ทั้งภาษาที่เป็นแบบลาก block และภาษา python ได้ นอกจากนี้ตัวโค้ดของ บอร์ด micro:bit ยังสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย ใช้เวลาในการศึกษาไม่นาน แต่ในข้อดีก็มีข้อเสียที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คือ เนื่องจากบอร์ด micro:bit ไม่มีช่องให้เสียสายต่าง ๆ จึงต้องใช้ตัวคีบที่เป็นปากจระเข้มาหนีบแทน ดังนั้น ทางผู้พัฒนาหลาย ๆ ที่จึงได้มีการแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยการสร้างบอร์ด extension หรือที่เรียกกันว่าบอร์ดต่อขยายซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนตรงส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้บอร์ดต่อขยายบางบอร์ดยังสามารถลดการต่อสายไฟที่ระโยงระยางได้อีกด้วย ทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้ ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีเวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโค้ด (code) ได้มากขึ้น ส่วนในส่วนของการนำไปประยุกต์ใช้งานนั้น นอกจากการทำงาน/แสดงผลบนตัวบอร์ดเองนั้น ตัวบอร์ด micro:bit นี้ยังสามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ หุ่นยนต์ หรือต่อเชื่อมเข้ากับระบบอื่น ๆ เช่น Radio หรือ internet ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง ๆ กับสื่อการเรียนรู้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น นำไปใช้เพื่อทำเป็นสมาทฟาร์ม (smart farm) สมาทโฮม (Smart home) แบบของจริงได้อีกด้วย micro:bit จึงทำให้เหมาะกับการนำมาใช้ในการเรียนการสอนและช่วยลดการไม่อยากเรียน coding ให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่าง บอร์ด micro:bit
REKE:BIT บอร์ดต่อขยายของบริษัท Cytron.io
ตัวอย่าง การนำ micro:bit มาประยุกต์ใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ (วัดความชื้นดิน)

อ้างอิง
https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/technology/10000-7245.html
https://www.depa.or.th/th/article-view/coding-fundamental-skills
https://www.kruupdate.com/coding/

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 121 views