จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 65 – นวัตกรรมจากสถาบัน

Newsletters

Aim-Math: เครื่องมือช่วยการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรารัตน์ วงศ์เกี่ย1 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนินทร พูนไพบูลย์พิพัฒน์2

        สื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเรียกว่า Aim-Math เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ต้นแบบของสื่อการเรียนรู้นี้เป็นเรื่องเลขยกกำลัง แม้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น ระบบอ่านข้อความและระบบอ่านหน้าจอ สามารถลดอุปสรรคในการเข้าถึงเอกสารและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาวิชาได้ ดังนั้น Aim-Math จึงถูกออกแบบเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปฏิสัมพันธ์

รููปที่ 1 กระบวนวิธีการทำงานของ Aim-Math

Aim-Math เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีอ่านข้อความ [1] กับกระบวนการเรียนรู้เข้าด้วยกัน [2] บทเรียนที่ต้องการนำเสนอถูกปรับให้อยู่ในรูปแบบของการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น กระบวนการวิธีของ Aim-Math ประกอบด้วย 2 คุณสมบัติเฉพาะ คือ การขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์การเรียนรู้ (Instruction-driven features) และ เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive features) ดังรูปที่ 1 ในส่วนของการขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์การเรียนรู้นั้น เราออกแบบ Aim-Math ให้ 

  • นำเสนอเนื้อหาทางคณิตศาสตร์อย่างเป็นลำดับขั้นตอน 
  • ผสมผสานรูปแบบของการนำเสนอเนื้อหาทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ และเสียง 
  • สอดแทรกคำถามและแบบฝึกหัดตลอดบทเรียน 
  • ให้คำใบ้และข้อเสนอแนะแบบทันทีทันใด 

สำหรับเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก Aim-Math มีคุณสมบัติ 

  • นำทางด้วยแป้นพิมพ์ เช่น สามารถใช้แป้นพิมพ์ลัด Ctrl+N เพื่อไปยังบทเรียนหน้าถัดไป  
  • ควบคุมระบบเสียงอ่าน เช่น สามารถใช้แป้นพิมพ์ลัด Ctrl+R เพื่อฟังเสียงอ่านข้อความที่พึ่งอ่านจบไปอีกครั้ง 
  • แสดงเสียงของแป้นพิมพ์ เช่น เมื่อผู้ใช้กดแป้นพิมพ์ 2 เสียง “สอง” จะแสดงในทันทีทันใด 

        เสียงพูดและเสียงประกอบอื่น ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นระหว่างทำแบบทดสอบ บทเรียนและแบบฝึกหัด นอกจากนั้นนักเรียนยังสามารถฝึกฝนคณิตศาสตร์ได้ทุกที่ทุกเวลาตามความต้องการ ด้วยรูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียนและง่ายต่อการติดตามบทเรียน ตัวอย่างภาพหน้าจอผู้ใช้งานของบทเรียนใน Aim-Math แสดงไว้ดังรูปที่ 2 เช่น นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้แป้นพิมพ์ตัวเลขในการสำรวจตารางสูตรคูณ 10 × 10 (รูปที่ 2a) การใช้ตาราง Input-Output ให้นักเรียนหาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน (รูปที่ 2b) และคำถามและแบบฝึกหัดระหว่างการเรียนรู้ (รูปที่ 2c)

รูปที่ 2 ตัวอย่างภาพหน้าจอผู้ใช้ของ Aim-Math

        Aim-Math ถูกนำไปทดลองใช้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อศึกษาความเข้าใจเรื่องเลขยกกำลังและความพึงพอใจของนักเรียน ผลที่ได้พบว่า คะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า Aim-Math ช่วยยกระดับความเข้าใจเรื่องเลขยกกำลังของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้ [3] และยังพบว่านักเรียนแต่ละคนใช้เวลาในการเรียนรู้ได้อย่างอิสระ อีกทั้งนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมีความพึงพอใจในเชิงบวกต่อการใช้งาน Aim-Math
        งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ Wongkia, W., & Poonpaiboonpipat, W. (2022). Aim-Math: a ubiquitous mathematics learning tool for blind and visually impaired students. International Journal of Mobile Learning and Organization, 16(1), 1–19.

 

บรรณานุกรม 

[1] Wongkia, W., Naruedomkul, K., & Cercone, N. (2012). I-Math: automatic math reader for thai blind and visually impaired students. Computers and Mathematics with Applications, 64(6), 2128–2140. Doi: 10.1016/j.camwa.2012.04.009. 
[2] Mishra, P., & Koehler, M.J. (2006). Technological pedagogical content knowledge: a framework for teacher knowledge. Teacher College Record, 108(6), 1017–1054. Doi: 10.1111/j.1467-9620.2006.00684.x. 
[3] Spinczyk, D., Maćkowski, M., Kempa, W., & Rojewska, K. (2019). Factors influencing the process of learning mathematics among visually impaired and blind people. Computers in Biology and Medicine, 104, 1–9. Doi: 10.1016/j.compbiomed.2018.10.025. 

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 122 views