คุณธรรมจริยธรรมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม
เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนจะนำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบกันอย่างไม่ต้องใช้เวลามากนักในการอ่านศึกษา โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคนมากและเป็นเรื่องที่ไม่มีใครในยุคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้อง คือ เรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศที่แต่ละคนใช้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เช่น นักเรียนใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อการศึกษาหาความรู้หรือเพื่อความบันเทิง องค์กรหรือสถาบันการศึกษาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ เป็นต้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ควรจะได้ศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นถึงประโยชน์หรือคุณค่าที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม แต่หากทุกคนในสังคมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถทำลายความเป็นคนและสังคมได้เหมือนกัน สำหรับบริบทแห่งการมีคุณธรรมจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการมีคุณธรรมจริยธรรมประกอบด้วยนั่นเอง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและการทำงานได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นพิษภัยหรือเป็นโทษกับทุกฝ่าย ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอรายละเอียดเรื่องนี้ตามหลักการเป็นลำดับไป
คุณธรรมจริยธรรมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม
สำหรับคุณธรรมจริยธรรมเพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมนี้ ผู้เขียนจะเน้นไปที่ผู้นำเสนอข้อมูลเป็นหลักในการเขียน เพราะการนำเสนอประเด็นใด ๆ ก็ตาม หากผู้นำเสนอข้อมูลนั้นมีความดีงามหรือมีคุณธรรมจริยธรรมประจำตัวแล้ว ย่อมเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ดังนั้น คุณธรรมจริยธรรมที่จะกล่าวต่อไปจึงจัดว่าเป็นต้นน้ำของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ แต่สำหรับเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนี้ มีผู้กล่าวไว้หลากหลายหัวข้อแล้ว ผู้เขียนจึงขอยกคุณธรรมจริยธรรมบางประเด็นมากล่าวเพื่อนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมดังนี้
ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ต้องประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรม 4 ประการ พกติดตัวไว้อยู่เสมอ เพราะหากผู้นำเสนอข้อมูลขาดคุณธรรมจริยธรรมแล้ว การนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้นำเสนอข้อมูลต้องมีคุณธรรมจริยธรรมดังนี้
1. ต้องมีความละอายใจในการนำเข้าข้อมูลเท็จ ในประเด็นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้นำเสนอข้อมูลต้องมีความรู้สึกละอายใจที่จะนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกไปสู่สาธารณชน เพราะข้อมูลที่่เป็นเท็จนั้นเมื่อถูกนำเสนอออกไปแล้ว ย่อมเกิดผลเสียกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ผู้นำเสนอเองย่อมได้รับโทษไปด้วย
2. ต้องมีความเกรงกลัวต่อผลที่จะเกิดขึ้นต่อการสร้างข้อมูลเท็จ เรื่องนี้จัดว่าเป็นประเด็นถัดมาจากข้อที่แล้ว เพราะการละอายแก่ใจที่จะแสดงข้อมูลเท็จย่อมสะท้อนไปหาผู้เสนอข้อมูลที่มีความเกรงกลัวต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ดังนั้น การเกรงกลัวต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการเสนอข้อมูลเท็จควรเป็นเรื่องที่ผู้นำเสนอข้อมูลต้องให้สำคัญ
3. ต้องมีความนึกคิดที่ดี ไม่เผลอสติจนทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประการที่สามนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของผู้เสนอข้อมูลว่า ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ อย่าเผลอเลอนำเสนอข้อมูลที่ไม่สร้างสรรค์เป็นอันขาด เพราะเมื่อขาดสติแล้ว โอกาสที่จะทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลผิด ๆ นั้นออกไปได้ ทำนองเดียวกันกับการแชร์ข้อมูลเท็จนั่นเอง ซึ่งนอกจากเป็นการละเมิดทางคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามแล้ว ในปัจจุบันถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายด้วย
4. ต้องมีความตระหนักรู้สึกตัวอยู่เสมอ เข้าใจตามข้อเท็จจริงของเรื่องราว ประการสุดท้ายนี้ ผู้เขียนมองว่าการมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงของเรื่องราวทั้งหลายที่นำเสนอของผู้นำเสนอนั้นเป็นเรื่องดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลที่นำเสนออกไปนั้น หากไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของเรื่องราวแล้ว ข้อมูลนั้นย่อมมีแนวโน้มเป็นข้อมูลเท็จ และในที่สุด เมื่อข้อมูลทั้งหลายที่เสนอออกไปเป็นเท็จ สิ่งดีงามในสังคมโดยรวมก็จะถูกทำลายทิ้งไปด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักรู้สึกตัวดีทุกครั้งก่อนนำเสนอข้อมูลออกไป
สรุปแล้ว ผู้นำเสนอข้อมูลอย่างมีคุณธรรมจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปราศจากคุณธรรมจริยธรรมทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว โอกาสที่ผู้นำเสนอข้อมูลจะนำตนเองไปสู่การสร้างข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนทำให้เกิดความเสียหายกับผู้รับข่าวสาร ตลอดถึงสังคมด้วย และในที่สุด เมื่อสังคมเต็มไปด้วยข้อมูลที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นข้อมูลเท็จ สังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นสังคมข่าวโคมลอย เป็นสังคมที่ทุกคนในสังคมเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ขาดความเชื่อมั่นในองคาพยพของสังคม ฉะนั้น การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมการในใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด เรียกว่าสังคมจะขาวสะอาด เมื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีคุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน เป็นยุคศิวิไลซ์หรือไม่ก็ตาม ความมั่นคงยั่งยืนของสังคมนั้นจะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานแห่งการมีคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมที่นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ให้ทุกคนในสังคมได้รับรู้ ดังนั้น เมื่อแต่ละคนในสังคมมีหลักการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมแล้ว การที่เทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นโทษ ก็จะกลับกลายเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากคณานับ ดังจะเห็นได้จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในทางการจัดการศึกษาในสังคมที่เต็มไปด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…