จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 65 – สาระน่ารู้ 4

Newsletters

ทำความรู้จักวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ที่ใช้กันในปัจจุบัน

เรื่อง : จิราภรณ์ การะเกตุ

วัคซีนที่เรารู้จักกันดีมีวิธีการผลิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. การใช้เชื้อโรค (ไวรัสหรือแบคทีเรีย) ทั้งตัว (Whole-microbe Approach) มาทำวัคซีน แบ่งเป็น 3 ประเภท
1.1 วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) นำเชื้อโรคมาทำให้ตายด้วยสารเคมี ความร้อน หรือรังสี ตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนกลุ่มนี้ต้องฉีด 2-3 โดส และต้องใช้เวลานานกว่าระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้น วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม
1.2 วัคซีนเชื้ออ่อนแรง (Live-attenuated Vaccine) นำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรง แต่เชื้อนั้นยังไม่ตาย ตัวอย่างเช่น วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม วัคซีนกลุ่มนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ไม่มีวัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้
1.3 วัคซีนที่อาศัยไวรัสชนิดอื่นเป็นตัวนำส่งชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อโรค (Viral Vector Vaccine) ตัวอย่างเช่น วัคซีนอีโบลา วัคซีนกลุ่มนี้ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้โดยไม่ป่วย แต่ต้องมีเทคโนโลยีเฉพาะในการสร้างไวรัสลูกผสมขึ้นในห้องปฏิบัติการ วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ แอสตราเซเนกา สปุตนิกวี ใช้ไวรัสที่ไม่เพิ่มจำนวนเป็นพาหะของยีนสไปค์ไปรตีน (Recombinant Adenovirus Vector)
2. การใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อโรคที่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ (Subunit Approach) โดยการสร้างชิ้นส่วนจำเพาะของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อทั้งตัวและไม่ต้องอาศัยไวรัสตัวอื่น เพื่อสร้างโปรตีนหรือน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบของเชื้อนำมาฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เทคนิคนี้ใช้ผลิตวัคซีนสำหรับเด็ก ตัวอย่างเช่น วัคซีนบาดทะยัก ไอกรน คอตีบ นับเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ โนวาแวกซ์ นาโนโคแวกซ์ ใบยา
3. การใช้สารพันธุกรรมของเชื้อโรค (Nucleic Acid Vaccine) ใช้ส่วนของสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ควบคุมคำสั่งการสร้างโปรตีนบางอย่างอาจเป็น DNA หรือ RNA ที่เชื้อโรคนั้นๆ ใช้สร้างโปรตีน โดยถ้าเป็น DNA จะเปลี่ยนให้เป็น mRNA ก่อน วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ใช้ชั้นไขมันของเซลล์ (Lipid Nanoparticles) เป็นเปลือกหุ้ม mRNA ของยีนสไปค์โปรตีน

        ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนว่าระบบภูมิคุ้มกันของตนเองจะตอบสนองต่อวัคซีนได้มากน้อยแค่ไหน อาจต้องใช้เวลาสร้างภูมินานถึง 14 วัน หรือวัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องฉีดโดสที่ 2, 3 หรือ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสร้างภูมิของแต่ละวัคซีนแต่ละประเภท แต่ละบริษัท อย่างไรก็ตาม หากได้รับวัคซีนแล้ว ควรดูแลตัวเองพักผ่อนเยอะ ๆ ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย ฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ ไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงต่อการได้รับการแพร่เชื้อโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อย่างเคร่งครัด


ที่มา
https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2358

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 71 views