จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 66 – สาระน่ารู้ 2

Newsletters

เทคนิคการเขียนรายงานการประชุม (ตอนที่ 2)

เรื่อง : จันทรัตน์ หิรัญกิจรังษี

         สำหรับบทความนี้จะเป็นเนื้อหา “เทคนิคการเขียนรายงานการประชุม (ตอนที่ 2)” เกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวกับการประชุม การจัดระเบียบวาระการประชุม การเขียนจดหมายเชิญประชุม วิธีการจดรายงานการประชุม และเทคนิคการเขียนรายงานการประชุม ดังนี้

  • ศัพท์ที่เกี่ยวกับการประชุม
    มีรายละเอียดแบ่งตามประเภทศัพท์และภาษาที่ใช้ในกิจกรรมการประชุม 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทศัพท์และภาษาศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
1) รายงานการประชุม
  • การประชุมตามปกติ: การประชุมที่กะทำตามวัน เวลา และสถานที่ที่ได้ตกลงนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว
  • การประชุมพิเศษ: การประชุมที่นอกเหนือจากวาระการประชุมปกติตามความจำเป็นและเร่งด่วน
  • การประชุมสามัญ: การประชุมที่ข้อบังคับกำหนดตายตัว เช่น เดือนละครั้ง หรือปีละครั้ง
  • การประชุมวิสามัญ: การประชุมที่ข้อบังคับเปิดโอกาสให้กระทำตามความจำเป็น
  • การประชุมลับ: การประชุมที่ขอให้ปิดเป็นความลับนำไปเปิดเผยได้เฉพาะมติหรือข้อปฏิบัติ ผู้เปิดเผยได้คือประธานหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเท่านั้น
  • การประชุมปฏิบัติการ: การประชุมเพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และแนวทางการปฏิบัติ
  • การสัมมนา: การประชุมเฉพาะกลุ่มตามหัวข้อที่กำนหดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิด และประสบการณ์ และประมวลความคิดข้อเสนอแนะจากที่ประชุม
  • การประชุมชี้แจง: การประชุมของหน่วยงานหรืองค์กร เพื่อชี้แจงให้บุคคลภายในหน่วยงานหรือภายในองค์กรได้รับทราบข้อเท็จจริง หรือนโยบายของหน่วยงานเพื่อนำไปปฏิบัติโดยทั่วกัน
  • การประชุมใหญ่: การประชุมที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้ ซึ่งจะจัดประชุมตามระยะเวลาที่กำหนด หรือประชุมประจำปี
  • การประชุมสาธารณะ: การประชุมที่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมฟังได้ และเปิดโอกาสให้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้
2) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประชุม
  • จัดประชุม: การจัดการประชุมหากเป็นการประชุมในองค์กร หรือการประชุมในกลุ่มย่อย คำนี้อาจจะไม่ได้ใช้เท่าไร แต่หากมีการจัดประชุมในสถานที่ที่ใหญ่ขึ้น หรือมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้องมีหน่วยงานเข้ามาจัดเตรียมการประชุมแทนประธานที่ประชุม โดยผู้จัดประชุมจะหมายถึง คนหรือหน่วยงานทั้งภายในหรือภายนอก ที่ได้รับมอบหมายให้มาจัดการประชุมทั้งหมดตั้งแต่เรื่องสถานที่ เอกสารการประชุม จดหมายเชิญประชุม วาระการประชุม ฯลฯ เพื่อให้กระบวนการประชุมเสร็จสิ้นตามมอบหมาย
  • ผู้มีสิทธิ์เข้าประชุม: บุคคลที่ได้รับเชิญหรือได้รับแต่งตั้งให้เข้าประชุม มีสิทธิ์อภิปรายเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา และมีสิทธิ์ออกเสียงลงมติได้ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์เข้าประชุมนั้นจะได้รับจดหมายแจ้งการประชุมล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวเข้าประชุมได้
  • ผู้เข้าประชุม: บุคคลที่มีสิทธิเข้าประชุม หรือที่มีหน้าที่ต้องเข้าประชุม และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุม แต่ไม่รวมถึงผู้เข้าสังเกตการณ์
  • องค์ประชุม: บุคคลที่มีหน้าที่ต้องเข้าประชุม หรือ ผู้เข้าประชุม ได้แก่ ประธาน รองประธาน เลขานุการ กรรมการหรือสมาชิก ตามหลักการของการประชุมในหน่วยงานหรือองค์กรนั้นกำหนดไว้
  • ครบองค์ประชุม: จำนวนผู้เข้าประชุมครบตามที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับโดยทั่วไป ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดก็ถือว่าครบองค์ประชุม (เปิดการประชุมได้) หากการประชุมมีไม่ครบองค์ประชุม (จำนวนสมาชิกมาประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง) แม้จะมีการประชุมต่อไปแต่ผลของการประชุมนั้น มติที่ได้ถือเป็นโมฆะ (โมฆะ แปลว่า สูญเปล่า) ดังนั้น ประธานจึงควรต้องยกเลิกการประชุมครั้งนั้น หรือนัดหมายประชุมครั้งใหม่
  • ที่ประชุม: จำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด ยกเว้นผู้จัดการประชุม
3) เรื่องที่ประชุมและวิธีการสื่อสาร
  • กำหนดการประชุม: การแจ้งกำหนดขั้นตอนของการประชุมที่ผู้จัดประชุมเป็นผู้กำหนด มักประกอบด้วยบุคคลผู้เกี่ยวข้อง วันเวลา สถานที่ รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ
  • ระเบียบวาระ: ลำดับรายการที่กำหนดไว้ในการประชุมแต่ละครั้ง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2542) บางหน่วยงานใช้คำว่า “วาระ” ซึ่งหมายถึง ครั้ง คราว (เช่น อยู่ในวาระ 2 ปี วาระอันเป็นมงคล) คำนี้ควรใช้เฉพาะในภาษาพูดเท่านั้น ไม่ควรใช้ในรายงานการประชุม เพราะมิได้มีความหมายเกี่ยวกับการประชุมแต่อย่างใด ดังนั้น ในการประชุมต้องใช้คำว่า “ระเบียบวาระการประชุม” ซึ่งหมายถึง การจัดลำดับเรื่องที่จะพิจารณาในที่ประชุม โดยเรียงหัวเรื่องตามลำดับความสำคัญ
  • ญัตติ: ข้อเสนอที่ผู้เข้าประชุมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อลงมติ โดยทั่วไปจะกระทำผ่านประธาน ก่อนที่จะมีการประชุม
  • มติ: ความรู้ ความคิดเห็น (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2557) ซึ่งหมายถึง ข้อวินิจฉัยที่เห็นพ้องต้องกันแล้ว ข้อตกลงหรือข้อสรุปของสมาชิกหรือกรรมการที่ร่วมประชุมจะต้องพิจารณาและมีความคิดเห็นร่วมกันหรือมีความเห็นส่วนใหญ่ควรจะดำเนินการอย่างไร ควรจะเป็นอย่างไร เรียกว่า “ลงมติ” ถ้าคนทุกคนในที่ประชุมเห็นด้วย ก็เรียกว่า “มติเป็นเอกฉันท์” การลงมติอาจเป็นการลงมติโดยเปิดเผย หรือเป็นความลับก็ได้ เมื่อที่ประชุมออกเสียงแล้วถือว่ามติที่ออกเสียงในที่ประชุมสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไป
  • วิธีการลงมติ: การลงมติในที่ประชุมนั้นมีหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นใช้กันจะมี 2 วิธี ดังนี้
    – การลงมติแบบทั่วไป: การให้สมาชิกในที่ประชุมแสดงว่าตัวเองจะเลือกมติแบบใดจากตัวเลือกที่มีโดยจะมีวิธีเลือกก็คือ ยกมือ ในกรณีที่สมาชิกการประชุมไม่มาก แต่หากสมาชิกมากกว่า 50 คน ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการลงคะแนนคล้ายกับการเลือกตั้ง เพื่อความชัดเจนของคะแนนการเลือกลงมติ
    – การลงมติลับ: เป็นการปิดบุคคลที่ลงคะแนนว่าเป็นใคร เลือกอะไร วิธีการนี้สมาชิกในที่ประชุมที่ลงคะแนนเลือกมติ จะได้รับบัตรเพื่อลงมติ จากนั้นนำไปเลือก และหย่อนลงในสถานที่ลับที่กำหนด ภายในเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อลงเสร็จแล้วประธานและกรรมการที่ประชุมจะนับคะแนนและตัดสินผลการลงมติ
  • การจัดระเบียบวาระการประชุม

ระเบียบวาระการประชุม หมายถึง ลำดับรายการที่กำหนดไว้เสนอที่ประชุม หรือเรื่องที่นำเข้าปรึกษาในที่ประชุมตามลำดับก่อน-หลัง ทั้งนี้ หน่วยงานส่วนมาก นิยมจัดระเบียบวาระการประชุม ดังนี้
กรณีเป็นการประชุมครั้งแรก แบ่งเป็น
        – ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ (หรือ เรื่องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ หรือ เรื่องแจ้งเพื่อทราบ)
        – ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา (หรือ เรื่องเพื่อพิจารณา)
        – ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)
กรณีเป็นการประชุมครั้งต่อ ๆ มา แบ่งเป็น
        – ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ (หรือ เรื่องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ หรือ เรื่องแจ้งเพื่อทราบ)
หมายเหตุ: ผู้เสนอวาระนี้ส่วนใหญ่จะเป็นประธานแจ้งเรื่องต่าง ๆ ให้ที่ประชุมทราบ รวมทั้งเรื่องที่ฝ่ายเลขานุการจัดระเบียบวาระ เพื่อแจ้งที่ประชุมทราบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องหาข้อยุติหรือการพิจารณาจากที่ประชุม เช่น การรายงานกิจกรรม หรือผลการดำเนินงานของหน่วยงาน
        – ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
หมายเหตุ: เป็นการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา
         – ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องติดตามผลการดำเนินงาน (หรือ เรื่องสืบเนื่อง หรือ เรื่องเสนอเพื่อทราบ)
หมายเหตุ: วาระนี้จะเป็นเรื่องที่ที่ประชุมได้มอบหมายให้ดำเนินการไว้ หรือให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือเคยพิจารณามาก่อนแล้ว แต่ยังมิได้ข้อยุติ ซึ่งจะต้องรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมทราบ ประเด็นเสนอวาระ จะเสนอได้ใน 2 ประเด็นคือ เพื่อทราบ หรือเพื่อพิจารณา (หากการพิจารณานั้นยังมิได้ข้อยุติ)
        – ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา (หรือ เรื่องเพื่อพิจารณา)
หมายเหตุ: เป็นเรื่องที่ต้องการให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อนำไปเป็นนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติงานหรือเป็นไปตามอำนาจหรือหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนั้น ๆ การจัดทำเอกสารประกอบวาระนี้ ฝ่ายเลขานุการหรือหน่วยงานเจ้าของเรื่องผู้เสนอวาระ จะต้องศึกษาเรื่องราวให้ละเอียดและสรุปความเป็นมาของเรื่องให้ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อเป็นพื้นฐานในการพิจารณาที่ถูกต้อง
        – ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)
หมายเหตุ: เป็นเรื่องที่ไม่ได้จัดเข้าในวาระใดวาระหนึ่ง ในการประชุมแต่ละครั้ง แต่อาจมีเรื่องเร่งด่วนจำเป็นที่จะต้องนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา ก็สามารถจัดเข้าในวาระอื่น ๆ ได้
กรณีในบางหน่วยงานอาจจัดระเบียบวาระการประชุมตามเรื่องประชุม มีดังนี้
        – ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
        – ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
        – ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องแผนปฏิบัติราชการโครงการ…
        – ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องการขยายความร่วมมือทางวิชาการ…
        – ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องการจัดสัมมนาทางวิชาการ…
        – ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

  • การเขียนจดหมายเชิญประชุม
    การเขียนจดหมายเชิญประชุม อาจจะเขียนระเบียบวาระการประชุมลงไปในจดหมายเชิญประชุม หรือแยกระเบียบวาระการประชุมอีกแผ่นต่างหากก็ได้ โดยมีวิธีการเขียน ดังนี้
    • ย่อหน้าแรกจะแจ้งว่าผู้มีอำนาจ เช่น ประธาน คณบดี ผู้อำนวยการ ฯลฯ ต้องการนัดประชุม เรื่องอะไร ครั้งที่เท่าไร เมื่อไร ที่ไหน
    • ย่อหน้าถัดมาจะแจ้งหัวข้อประชุมหรือระเบียบวาระการประชุม
    • ย่อหน้าสุดท้ายจะเชิญให้ผู้เข้าประชุมไปประชุมตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด
  • วิธีการจดรายงานการประชุม
    • การจดอย่างละเอียด: ใช้ในการประชุมที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นต้อจดงบันทึกทุกถ้อยคำไว้เป็นหลักฐาน โดยต้องจดทุกคำพูดของผู้เข้าประชุมทุกคน หรือถ้าที่ประชุมมีการแสดงกริยา หรือการกระทำใดแทนคำพูด ก็อาจจะจดแจ้งกริยาหรือการกระทำนั้นไว้ด้วย โดยเขียนไว้ในวงเล็บ เช่น (ที่ประชุมปรบมือ) เป็นต้น สำหรับการจดบันทึกรายการประชุมลักษณะนี้นิยมใช้เครื่องบันทึกเสียงแล้วจึงมาถอดเทปในภายหลัง
    • การจดอย่างย่อ: เป็นการจดบันทึกเฉพาะเรื่องที่พิจารณา และย่อคำพูด เฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญ ที่จะนำไปสู่มติของที่ประชุม กล่าวคือ ในการประชุมนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องใดบ้าง สมาชิกผู้ใดได้อภิปรายในประเด็นที่สำคัญอย่างไรบ้าง โดยผู้จดบันทึกรายงานการประชุมจะจดเฉพาะเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญของการอภิปรายนั้น ในลักษณะที่ย่อคำพูดของสมาชิกที่อภิปรายในประเด็นสำคัญที่นำไปสู่มติของที่ประชุม ซึ่งเหมาะสมกับการนำไปใช้ในการประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ต้องการหลักฐานยืนยันว่าใครเป็นผู้พูด
    • การจดอย่างสรุป: เป็นการจดบันทึกการประชุมที่กระชับที่สุด โดยจะจดเพียงว่าการประชุมนี้พิจารณาในเรื่องใดบ้างแต่ละเรื่องมีสาระสำคัญอย่างไร ที่ประชุมมีความคิดเห็นหรือข้อพิจารณาโดยรวมเป็นเช่นไร และมีมติอย่างไร โดยจะไม่จดคำพูดของสมาชิกในการอภิปราย เว้นแต่เป็นประเด็นที่สำคัญมากที่นำไปสู่มติของที่ประชุม
  • เทคนิคการเขียนรายงานการประชุม
    1) การจัดระเบียบความคิด

         สำหรับการดำเนินการก่อนลงมือเขียนในงานทุกประเภท โดยส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของการคิด ดังนั้น รายงานการประชุมก่อนจะลงมือเขียนจึงต้องมีการจัดระเบียบความคิดให้ลงตัว ซึ่งวิธีคิดที่เรียบง่ายที่สุด คือ การใช้หลักการ 5W1H เป็นส่วนสำคัญ โดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเขียนเรื่องใคร (Who) ทำอะไร (What) ให้แก่ใคร ที่ไหน (Where) เมื่อไร (When) ทำไม (Why) และอย่างไร (How) เพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาคืออะไร หรืออะไรคือปัญหา มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
         – Who (ใคร): ในเรื่องนั้นมีใครบ้าง
         – What (ทำอะไร): แต่ละคนทำอะไรบ้าง
         – Where (ที่ไหน): เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นอยู่ที่ไหน
         – When (เมื่อไหร่): เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นทำเมื่อวัน เดือน และปีใด
         – Why (ทำไม): เหตุใดจึงได้ทำสิ่งนั้น หรือเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ
         – How (อย่างไร): เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นทำเป็นอย่างไรบ้าง
    2) การวางเค้าโครง ประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
         – ส่วนที่ 1 ความเป็นมา : ความเป็นมา หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการประชุมพิจารณาเรื่องนั้น ๆ
         – ส่วนที่ 2 ความคิดเห็น : ความคิดเห็น ข้อเสนอ หรือข้ออภิปรายต่าง ๆ ซึ่งคณะกรรมการในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอแนะ หรือได้อภิปรายในเรื่องดังกล่าว
         – ส่วนที่ 3 มติที่ประชุม : มติที่ประชุมเป็นส่วนสำคัญ ที่จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นหลักฐาน หรือใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่องต่าง ๆ ที่ได้จากข้อสรุปหรือลงมติในที่ประชุม
            ทั้งนี้ โครงสร้างทั้ง 3 ส่วน ดังกล่าว จะต้องมีเนื้อหาที่ความสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน โยเริ่มจากบทกล่าวนำจะต้องนำไปสู่ส่วนเนื้อหาอย่างกลมกลืน และส่วนที่เป็นบทสรุปจะต้องรับช่วงจากสองส่วนข้างบนให้ไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์และงดงามในการเขียนรายงานการประชุม
    3) การจับประเด็นสรุปความ
            ที่ประชุมอาจมีหัวข้อหรือประเด็นในการพิจารณาที่มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้พูดหรือผู้นำเสนอ ซึ่งอาจเป็นการนำเสนอประเด็นปัญหา ผลกระทบ ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ ดังนั้น ผู้จดรายงานการประชุมจะต้อง “จับเจตนา” ของผู้พูดว่าต้องการอะไร หรือที่ประชุมอภิปรายอะไร และมีมติที่ประชุม อย่างไร โดยหลักส่วนใหญ่มีประเด็นสรุป ดังนี้

         – ประเด็นการรายงาน: รายงานการปฏิบัติงาน รายงานความคืบหน้าของผลงาน และรายงานปัญหาอุปสรรค
         – ประเด็นการแจ้ง: การพูดแจ้งให้เพื่อทราบ ให้นำหลักการ 5W1H มาใช้ในการสรุปความ
         – ประเด็นการชี้แจง: การพูดเพื่อชี้แจงสาเหตุ เรื่องราว หรือชี้แจงระเบียบการปฏิบัติ
         – ประเด็นการแสดงความคิดเห็น: การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่พิจารณาอยู่ ทำแล้วเกิดประโยชน์ ผลดี ผลเสีย หรือไม่อย่างไร
         – ประเด็นการให้ข้อเสนอ: การให้ข้อเสนอควรทำอะไร หรืออย่างไร
    4) หลักการและวิธีการเขียนรายงานการประชุม
    • ให้เขียนเฉพาะประเด็นหลักที่เป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระเท่านั้น ประเด็นปลีกย่อยควรตัดทิ้งไป ความเห็นต่าง ๆ ของที่ประชุมไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับก่อนหลังของผู้พูด แต่ให้เรียงตามความเกี่ยวข้องกับหัวข้อระเบียบวาระนั้น ๆ เป็นสำคัญ
    • กรณีที่ประชุมมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานไปดำเนินการในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ต้องคิดเสมอว่าการเขียนรายงานการประชุมต้องสามารถนำมติหรือความเห็นของที่ประชุมไปปฏิบัติได้ กล่าวคือ ต้องมีความชัดเจน และมีความยืดหยุ่นในขณะเดียวกัน ซึ่งผู้จดรายงานการประชุมควรจะหารือกับประธานที่ประชุม หรือผู้เกี่ยวข้องด้วยก็ได้
    • ไม่ควรระบุชื่อบุคคลผู้ให้ความเห็นหรือเสนอเรื่องในที่ประชุม เพราะในเรื่องเดียวกันอาจมีผู้เสนอหรือให้ความเห็นหลายคนก็ได้
    • ไม่ใช้ภาษาพูด มาเขียนในรายงานการประชุม
    • ในกรณีมีผู้อ้างถึงเอกสารบางอย่างและได้อ้างผิดไป เป็นหน้าที่ของผู้จดรายงานการประชุมต้องไปหาข้อมูลที่ถูกต้องมาเขียนในรายงานการประชุม
    • กรณีเป็นคำมาจากภาษาต่างประเทศ และผู้จดรายงานการประชุมทราบความหมายที่ชัดเจนของคำดังกล่าว ควรใช้คำที่เป็นภาษาไทยแทน และเขียนภาษาต่างประเทศอยู่ในวงเล็บข้างท้าย
    • มติที่ประชุม คือ ข้อตกลงต่าง ๆ ของที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอที่ประชุม
    • มติที่ประชุมนอกจากจะมีข้อตกลงแล้ว ยังมีข้อคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ ดังนี้
      ข้อคิดเห็น คือ ความเห็นที่ผู้เข้าประชุมแสดงออกในระหว่างการประชุม
      ข้อสังเกต คือ ความเห็นที่ผู้เข้าประชุมแสดงความคิดเห็นไม่เชิงคัดค้านแต่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้
      ข้อเสนอแนะ คือ ความเห็นที่ผู้เข้าประชุมเสนอเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าของเรื่องนำไปพิจารณา

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (4 votes, average: 3.75 out of 4)
Loading…
Views : 206 views