โลกทัศน์ทางการศึกษาหลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์
บทความขนาดสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนอยากจะนำเสนอถึงการจัดการศึกษาหรือสถานการณ์การบริหารการศึกษาที่เหมาะสมต่อสถานการณ์การคลายตัวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยที่ผ่านมาการจัดการศึกษาหรือการทำงานในองค์กร บริษัทห้างร้าน ล้วนมุ่งไปที่การดำเนินการแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าแทบไม่มีการบริหารจัดการองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเป็นแบบออนไซต์เลย แต่เท่าที่สังเกตเห็นได้ จะพบว่าช่วงแรก ๆ การทำงาน การจัดการศึกษาหรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดังจะเห็นได้จากที่แต่ละฝ่ายดำเนินงานแบบออนไลน์ แต่ก็มีเงื่อนไขที่จะทำให้การดำเนินการไม่สะดวกสบาย เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารไม่พร้อม คนทำงานไม่ค่อยมีทักษะในการใช้เครื่องมือและโปรแกรมออนไลน์ หรือระบบอินเทอร์เน็ตไม่พร้อมใช้งาน เป็นต้น
เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ดำเนินการจัดการศึกษาหรือการทำงาน แต่เมื่อผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปสักระยะ การดำเนินการแบบออนไลน์กลับกลายเป็นการทำให้ผู้เกี่ยวข้องรู้สึกชอบ เพราะสะดวกสบาย สามารถทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกันได้ สามารถที่จะทำงานไปด้วยเดินทางไปด้วยได้ หรือทำให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าการดำเนินงานแบบออนไลน์นี้ได้ทำให้คนชอบและทำให้คนอยากจะดำเนินการแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลง ผู้คนในสังคมเริ่มไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น นโยบายของผู้นำทางสังคมก็เปิดกว้างมากขึ้น จึงมีโจทย์คำถามในเรื่องนี้ขึ้นมาว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงแล้ว การจัดการศึกษาจะเป็นแบบออนไซต์ทั้งหมดดีกว่าไหม เรียกว่ากลับไปดำเนินการเหมือนกับที่ดำเนินการก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือจะจัดการศึกษาแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับที่ดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือจะบริหารจัดการการศึกษาแบบผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ โดยจะออนไลน์มากกว่าออนไซต์หรือจะออนไซต์มากกว่าออนไลน์ก็ได้ ในที่นี้ เพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมและเกิดผลลัพธ์ในทางที่ดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงขอเสนอโลกทัศน์ทางการศึกษาหลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็น 3 แบบ พร้อมยกประเด็นที่เป็นเงื่อนไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในการเลือกใช้แต่ละแบบดังต่อไปนี้
1. การจัดการศึกษาแบบออนไซต์ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ การจัดการศึกษาในแบบที่เคยดำเนินการมาก่อนที่จะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังปฏิบัติตามนโยบาย Social Distancing รักษาระยะห่างและดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อตั้งข้อสังเกตก็จะพบว่าการดำเนินการเหมือนกับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น อาจจะทำให้เกิดประสิทธิประสิทธิผลเหมือนก่อนได้ก็จริง แต่ทักษะด้านต่าง ๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องได้พัฒนามาเรื่อยหรือมีอยู่แล้วอาจจะทำให้ศักยภาพลดลงได้ ตลอดถึงสภาพและความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่เช่นเดียวกัน ด้วยในช่วงก่อนหน้านี้อาจจะมีความรู้สึกชอบและสะดวกสบายย่อมอาจจะรู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ และไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนเดิม พร้อมกันนี้ ทรัพยากรทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาอาจจะยังไม่มีความสมบูรณ์หรือไม่พร้อมก็ได้ เพราะไม่ได้ถูกใช้งานในลักษณะออนไซต์มานานนั่นเอง
2. การจัดการศึกษาแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยการจัดการศึกษาแบบนี้เป็นไปตามที่จัดกันอยู่แล้วในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเริ่มรู้สึกชอบและทำให้เกิดความสะดวกสบาย พร้อมทั้งเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดไปในขณะเดียวกับอีก เพราะสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังไม่ถือว่ายุติ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การจัดการศึกษาแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าจะเหมาะสมอยู่ต่อไป แต่การดำเนินการเช่นนี้ถึงแม้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะชอบและสะดวกสบาย ก็ยังตั้งคำถามเพื่อความชัดเจนได้ว่าการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และที่จะดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ อีกนั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลก็ได้ กล่าวคือสถาบันการศึกษา ระบบการเรียนการสอน หลักสูตร ผู้ศึกษา ผู้ปกครอง รวมทั้งอุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ อาจไม่มีความพร้อมเหมือนเดิม
3. การจัดการศึกษาแบบออนไลน์และออนไซต์ผสมผสาน ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ ทั้งนี้อาจจะเป็นแบบละ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ หรือจะบริหารจัดการตามสถานการณ์ก็ได้ เพียงแต่ต้องมีทั้ง 2 แบบให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอน แต่การดำเนินการแบบนี้ก็อาจมีคำถามได้ถึงความพร้อมของทรัพยากรทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เพราะทรัพยากรหลายอย่างได้ถูกใช้บ้าง ถูกงดใช้ไปเลยบ้าง ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น การจัดการศึกษาแบบผสมผสานนี้ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมกว่าอีก 2 แบบ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้สร้างคุณลักษณะหลายอย่างให้เกิดขึ้นกับบางทรัพยากรที่อยู่ในการจัดการศึกษา เช่น ความรู้สึกชอบ ความสะดวกสบาย อุปกรณ์ทางการศึกษา เป็นต้น เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แล้ว ส่วนการที่จะพยายามใช้แบบผสมผสานนั้นดูเหมือนจะเหมาะสมกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาไปข้างหน้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่การดำเนินการผสมผสานจัดการศึกษาใน 2 รูปนี้ย่อมอาจทำให้เกิดสับสนและไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลได้เหมือนกัน กล่าวคือการผสมผสานการจัดการศึกษานั้นอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักเรียนนักศึกษา เป็นต้น
จากที่กล่าวมาในการจัดการศึกษาทั้ง 3 แบบ สรุปได้ว่าทั้ง 3 แบบนั้นล้วนมีจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุงพัฒนาไม่แตกต่างกัน คือ เมื่อจะใช้แบบไหนในการดำเนินการ การดำเนินการดังกล่าวนั้นก็จะมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นแน่นอน เรียกว่าไม่มีการเลือกแบบไหนแล้วปัญหาทุกอย่างจะจบ ด้วยว่าทรัพยากรทางการศึกษานี้ไม่ใช่มีเพียงแค่องค์กรหรือหน่วยงาน ผู้สอน และผู้เรียนเท่านั้น เพราะการดำเนินงานการศึกษานี้มีความสลับซับซ้อนในเชิงการบริหารจัดการอยู่มากพอสมควร ดังนั้น การจะเลือกใช้การดำเนินงานแบบไหน คงไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว คงเป็นหน้าที่สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะได้บริหารสถานการณ์และเลือกแบบที่เหมาะสม ดังจะเห็นได้จากที่โกล์บิช กล่าวไว้ว่าหากจะจัดการศึกษาแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องพร้อม หากการจัดการศึกษาแบบออนไซต์ 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องบริหารสถานการณ์ให้ปลอดภัย มีการรักษาระยะห่างและดูแลอนามัย ส่วนการจัดการศึกษาแบบออนไลน์และออนไซต์ ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาก็ต้องพิจารณาบริหารทั้ง 2 แบบให้เหมาะสม ด้วยหากบริหารจัดการไม่มี ประสิทธิภาพประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็ไม่น่าจะเป็นไปตามแผนงาน เป้าหมาย และนโยบายได้ เนื่องจากการผสมผสานแบบการจัดการศึกษานี้ย่อมอาจทำให้ทุกอย่างไม่ชัดเจน เกิดความสับสน และทำให้เกิดความวุ่นวายทางการศึกษาได้เหมือนดังที่พัชราภรณ์ ดวงชื่น กล่าวว่าการรับมือกับ New Normal ของการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ของเราทุกคน รวมถึงการบริหารจัดการศึกษาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร กล่าวว่าโลกการศึกษาหลัง COVID-19 จึงต้องปรับโจทย์ใหม่
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…