จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 57 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

ความรู้ ความเชื่อ และความกลัวไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับปรากฏการณ์การจัดการศึกษาแบบออนไลน์

ดร. มนัสวี ศรีนนท์
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

  

       

    จากที่คนทั้งโลกกำลังวิตกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  โดยได้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด มีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และ work from home เพื่อป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นอุปกรณ์การป้องกันไวรัส โดยมีทั้งข่าวเท็จและข่าวจริงตีคู่กันเกิดขึ้นในสังคม จึงทำให้เกิดความคิดกับผู้เขียนขึ้นมาว่า เรื่องข่าวจริงและข่าวเท็จเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นี้ คงจะเป็นปรากฏการณ์ให้คนในสังคมได้ประสบพบเจอกันไปเรื่อย ๆ แต่ที่เป็นที่น่าสนใจยิ่งในปัจจุบันคือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้คนในสังคมเกิดการหวั่นวิตกมากกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับความรู้ ความเชื่อ และความกลัวต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับปรากฏการณ์การจัดการศึกษาแบบออนไลน์ที่สถาบันการศึกษาในสังคมไทยกำลังดำเนินการกันอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและหยุดยั้งไวรัสดังกล่าว

          สำหรับเรื่องความรู้ ความเชื่อ และความกลัวในไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นี้ ผู้เขียนอยากจะนำเสนอการวิเคราะห์อย่างกว้าง ๆ เป็น 3 ประการ ดังนี้

1.ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

          เรื่องความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะความรู้เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการมีการศึกษาหรือการจบการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการมีการศึกษากับเรื่องการมีความรู้นั่นเอง ในเรื่องความรู้ควรมองให้ถึงแก่นสารหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่การยืนยันว่าคนในสังคมมีความรู้ด้วยการดูเพียงยอดผู้เข้าศึกษาและจบการศึกษาในระดับต่าง ๆ ในแต่ละปีเท่านั้น ส่วนที่ถูกต้องคือการมองไปที่พฤติกรรมทางการศึกษาของคนในสังคมมากกว่า ดังจะเห็นได้จากที่มีการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยในแต่ละปีนั้นมีราว ๆ แปดบรรทัดเท่านั้น ดังนั้น ในเรื่องไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หากจะให้หยุดการแพร่ระบาดในสังคมไทยได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนในสังคมจะต้องให้ความสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับที่มาที่ไปหรือประวัติความเป็นมาของไวรัส ตลอดถึงสาเหตุการแพร่ระบาดและการป้องกันไวรัสด้วย เรียกว่าทุกคนในสังคมจะต้องมีความรู้อย่างพอเพียงเกี่ยวกับไวรัสนี้ จึงจะทำให้ความเสี่ยงต่อการระบาดลดลงและหมดไปจากสังคมไทย หากไม่มีความรู้ที่เพียงพอในเรื่องไวรัสดังกล่าวแล้ว คนในสังคมก็จะดำเนินชีวิตด้วยความไม่รู้ ความเชื่อที่ผิด และความประมาทกลัวได้

2. ความเชื่อเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

          เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นับว่ามีทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมโดยรวม คือ หากคนในสังคมมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าว ก็จะทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมมีความแปลกประหลาดหรือไม่เป็นปกติสุขได้ ดังนั้น หากสังคมต้องการให้เกิดความเชื่อที่ถูกต้องหรือไม่เชื่อเรื่องไวรัสนี้อย่างผิด ๆ สังคมจำเป็นต้องสร้างกระบวนการการศึกษาและการสื่อสารให้คนใน สังคมได้เรียนรู้อยู่บ่อย ๆ โดยผู้นำของสังคมจะต้องขยันนำเสนอข้อมูลความจริงเกี่ยวกับไวรัสนี้ให้คนในสังคมได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าต้องให้คนในสังคมหลอมรวมกันระหว่างความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับไวรัสนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้ ทั้งนี้ หากคนในสังคมยังไม่สามารถประสานกลมกลืนความรู้กับความเชื่อเกี่ยวกับไวรัสนี้ได้ คนในสังคมก็จะใช้ชีวิตด้วยความเชื่อเป็นหลัก ส่วนเรื่องความรู้ซึ่งอาจจะมีมากบ้างน้อยบ้างก็จะเป็นเรื่องรองไป

จึงควรที่จะทำให้คนในสังคมอยู่กับไวรัสนี้ด้วยความรู้นำความเชื่อให้ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องให้ความเชื่อนั้นนี้มีรากฐานจากความรู้แต่ถ้าหากไม่สามารถทำให้คนในสังคมใช้ชีวิตให้ประสานกลมกลืนระหว่างความรู้กับความเชื่อได้ คนในสังคมก็จะปะทะกับไวรัสนี้ด้วยความกลัว จนในที่สุด ก็จะกลายเป็นสังคมตื่นตระหนกได้

3.ความกลัวเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

          เรื่องเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นี้ มีประเด็นที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมมากที่สุดคือคนในสังคมเกิดความกลัวต่อไวรัสนี้อย่างไม่มีเหตุผล เพราะหากคนในสังคมเกิดกลัวไวรัสนี้อย่างไม่มีเหตุผลประกอบ   การดำเนินชีวิตปกติที่แต่ละคนในสังคมทำกันอยู่ก็จะเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุด ผลลัพธ์โดยรวมก็จะทำให้สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปคือหากวิถีชีวิตหรือการใช้ชีวิตของคนในสังคมต่อปัญหาไวรัสนี้มีพื้นฐานมาจากความกลัวล้วน ๆ     ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าความรักและการช่วยเหลือกันและกันของคนในสังคมก็จะสูญหายไปด้วย เพราะทุกคนก็จะตัดสินความดีด้วยความอยู่รอดปลอดภัยของตนและญาติมิตรเป็นหลัก ส่วนคนอื่นหรือสังคมโดยรวมจะเป็นอย่างไรนั้นไม่สำคัญ เรียกว่าอะไร ๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับขอให้ตนเองและญาติ ๆ รอด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ทุกคนในสังคมอยู่กับไวรัสนี้ด้วยความรู้ที่ถูกต้องและความเชื่อที่ถูกทาง พร้อมทั้งมีความกล้าหาญอย่างมีสติสัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับไวรัสด้วยการไม่ประมาท

          ในเรื่องความรู้ ความเชื่อ และความกลัวต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การจัดการศึกษาแบบออนไลน์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในทุกระดับชั้น ตลอดจนการเปิดและปิดการเรียนการสอนก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่วนประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนักการศึกษา คือ เรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์หรือแบบอื่น ๆ เพื่อจะไม่ให้เป็นสาเหตุแห่งการแพร่ระบาดของไวรัสนั้นจะเกิดมรรคผลมากน้อยเพียงใด เพราะการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาของไทยนั้นมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาแบบออนไลน์ตามนโยบายดังกล่าว ผู้เขียนจึงมีทัศนะที่จะนำเสนอเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้

  1. ระบบอินเทอร์เน็ต

          ในเรื่องนี้ บางสถาบันการศึกษาก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่บางสถาบันการศึกษาก็อาจจะมีปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะระบบอินเทอร์เน็ตที่แต่ละสถาบันการศึกษาใช้อยู่นั้นต่างมีต้นทุนหรือการลงทุนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากจะจัดการศึกษาแบบออนไลน์เพื่อป้องกันและลดการแพร่ไวรัสดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นไปได้ด้วยดีกับบางสถาบันการศึกษาเท่านั้น ส่วนบางสถาบันการศึกษาอาจจะยังไม่สะดวกหรืออาจจะเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อมองไปถึงอนาคตทางการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว วิธีการจัดการศึกษาแบบนี้ ก็จัดได้ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมและเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทาง ตลอดจนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้

  1. เนื้อหาที่ผลิตขึ้น

          สำหรับเรื่องเนื้อหาที่จะให้ผู้ศึกษาเข้าไปศึกษาเรียนรู้หรือเนื้อหาที่ผู้นำเสนอจะให้แก่ผู้ศึกษานั้น ในเบื้องต้นต้องมีการเตรียมให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสนี้แล้ว แต่ถ้าหากสถาบันการศึกษาไม่ได้เตรียมพร้อมในเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนก็ย่อมจะทำให้การนำเสนอเนื้อหาแบบออนไลน์เป็นไปได้ยากอยู่เหมือนกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องต้องพูดถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่จะมารองรับเนื้อหาที่ผลิตขึ้นให้ผู้เรียนเข้าไปอ่านศึกษาหาความรู้เลย ยิ่งเป็นการลงทุนสูงและต้องเป็นการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ด้วย จึงจะทำให้มีเนื้อหาที่ดีที่จะส่งต่อให้ผู้ศึกษานำไปศึกษาค้นคว้าต่อไปได้

  1. ผู้นำเสนอเนื้อหา

          ส่วนเรื่องเกี่ยวกับผู้นำเสนอเนื้อหานี้ก็ควรให้ความสำคัญเหมือนกัน เพราะเนื้อหาที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยผู้นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีเทคนิคหรือมีวิธีการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจ ตลอดจนต้องมีกระบวนการคัดกรองเนื้อหาก่อนที่จะมีการออนไลน์ให้ผู้ศึกษาเข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษานั่นเอง ดังนั้น การให้ความสำคัญกับผู้นำเสนอเนื้อหาหรือครูผู้สอนเนื้อหาที่จะออนไลน์ในแต่ละเรื่องหรือแต่ละประเด็นก็มีความสำคัญยิ่ง จึงควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดก่อนที่จะนำเนื้อหาที่ผลิตขึ้นเข้าสู่ระบบออนไลน์ให้นักศึกษาหรือผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย

  1. ผู้ศึกษาเนื้อหา

          เรื่องเกี่ยวกับผู้ศึกษา นักเรียน หรือผู้สนใจทั่วไปที่จะเข้าไปอ่านศึกษาเนื้อหานั้น ในเบื้องต้นก็ต้องมีความสนใจใคร่รู้ พร้อมทั้งมีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้วย เรียกว่าต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อเข้าถึงเนื้อหาความรู้ที่ออนไลน์ไว้ ส่วนเรื่องพฤติกรรมการออนไลน์เพื่อหาความรู้หรือศึกษาค้นคว้านั้น    ผู้ศึกษาก็ต้องมีอัธยาศัยในการเรียนรู้ด้วยจึงจะสมบูรณ์แบบในระบบการจัดการศึกษา แต่ถ้าอุปกรณ์ทางการศึกษาทุกอย่างออนไลน์หมดแล้ว ผู้ศึกษาเนื้อหากลับไม่สนใจเข้าไปอ่านศึกษาก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์เหมือนกัน การที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากมีงานวิชาการจำนวนมากได้ระบุถึงพฤติกรรมการออนไลน์เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ของคนไทยนั้นยังมีอัตราน้อย ด้วยคนไทยส่วนใหญ่มักจะออนไลน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น มากกว่าเพื่อการศึกษา ตัวอย่างเช่น     ถ้าครูบาอาจารย์ไม่สั่งให้ทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติมในรายวิชาที่สอน นักศึกษาก็แทบจะไม่เข้าเว็บเพื่อหาข้อมูลทางการศึกษาเลย

          สรุปแล้ว เรื่องความรู้ ความเชื่อ และความกลัวต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เน้นมาจัดการศึกษาแบบออนไลน์ เพื่อลดและป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าว จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนในสังคมเกิดการตื่นรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพและเกิดการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ทั้งองคาพยพอย่างเป็นระบบ ส่วนจะมีบ้างที่คนในสังคมบางส่วนไม่สนใจเรียนรู้ มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และเกิดการตื่นกลัวไวรัส ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หากมองในมิติแนวคิดและทฤษฎีทางสังคม ดังนั้น ต่อไปหากคนในสังคมเกิดการเอาใจใส่ต่อการเรียนรู้ มีความเชื่อที่ถูกต้อง และไม่ประมาทหรือตื่นกลัวต่อไวรัสนี้จนเกินไป สังคมโดยรวมก็จะเกิดการพัฒนาต่อไป พร้อมทั้งการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ที่สังคมมีส่วนร่วมเต็มรูปแบบก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้

การจัดการเรียนการสอน-การสอบช่วงวิกฤต COVID-19

ผศ.ดร.สุชัย นพรัตน์แจ่มจำรัส
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย

            จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 จากเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 หรือ Corona Virus ในครั้งนี้ เชื่อว่า ครู อาจารย์ นักเรียนและนักศึกษา รวมถึงติวเตอร์ ต่างต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์กันถ้วนหน้า กล่าวคือ จากการเรียนการสอนแบบซึ่งหน้าในชั้นเรียนมาเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

            ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการเรียนออนไลน์ ระบบหรือเครื่องมือที่ใช้กันส่วนใหญ่ คือ ระบบการจัดการเรียนรู้  (Learning Management System, LMS) เช่น Google classroom, Moodle, MOOCs, Edmodo นอกจากนี้อาจรวมถึงการอัดคลิปวีดิทัศน์และคลิปเสียงของผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบตามเวลาที่ผู้เรียนสะดวก (Asynchronous) โดยผู้สอนกับผู้เรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่และ/หรือเวลาเดียวกัน

            เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มรุนแรงขึ้น พบว่าการสอนสดในห้องเรียนปกติถูกย้ายไปสู่ระบบการประชุมแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Zoom, MS Team, Cisco WebEx เป็นต้น รวมถึงการสอนด้วยวิดีโอที่เตรียมไว้ร่วมกับการพูดคุยปรึกษาแบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม เช่น OBS, Line ถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ การสอนสดหรือการสอนด้วยวิดีโอที่เตรียมไว้ล้วนเป็นการจัดการเรียนรู้แบบตามเวลาจริง (Synchronous) โดยผู้สอนกับผู้เรียนอยู่ต่างสถานที่แต่เวลาเดียวกัน (Different place & same time)

            การจัดการเรียนการสอน แบบต่างๆ ข้างต้น มีข้อดีเสียแตกต่างกัน แต่มีส่วนที่เป็นปัญหาร่วมกัน คือ ความสามารถด้านไอทีของผู้สอนและผู้เรียน การเข้าถึงและความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ และโปรแกรมที่ใช้ ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนที่มีโอกาสได้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ต่างได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพอจะยอมรับหรือมองข้ามไปได้เมื่อเทียบกับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากยังมีการจัดการเรียนรู้แบบซึ่งหน้าในชั้นเรียน

          หากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ยังไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมได้ในเร็ววันจนกระทั่งช่วงเวลาแห่งการสอบปลายภาคมาถึง เรามีความพร้อมจริงหรือไม่ เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการสอบแบบออนไลน์อย่างน้อย 4 ประเด็น ได้แก่ การระบุตัวตนของคนที่ทำข้อสอบ ความรู้สึกกังวลของนักศึกษาในความต่อเนื่องของการทำข้อสอบ เสถียรภาพของสัญญาณอินเตอร์เน็ต และระบบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล

          เราอาจจะลองใช้หลักการ “ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” ด้วยการคิดถึงการเลื่อนการสอบ (อาจใช้คำตามสมัยนิยมว่า มาตรการล็อกดาวน์การสอบ)  โดยให้นักเรียนหรือนักศึกษาทำรายงานการศึกษา หรือเขียนการสะท้อนคิด (Reflection) หลังเรียนออนไลน์สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในปีสุดท้ายของการศึกษา ซึ่งเป็นการกระทำที่ลงทุนน้อยที่สุด แต่อาจจะตอบสนองต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดความกังวลในประเด็นที่ได้กล่าวถึงในย่อหน้าข้างต้นได้มากที่สุด

            จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 คาดว่า สถานการณ์นี้คงจะอยู่กับเราอย่างน้อยอีก 6 เดือนขึ้นไป ดังนั้น วิกฤต COVID-19 นี้ จึงเป็นโอกาสของสถาบันการศึกษาทุกระดับในการเตรียมการณ์และดำเนินการปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ  ในท้ายที่สุด ครู อาจารย์ นักเรียนและนักศึกษา จะมีความคุ้นเคยและพัฒนาความสามารถทางไอทีในการเรียนการสอนแบบออนไลน์กันอย่างจริงจังครับ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านปลอดภัยจากสถานการณ์ COVID-19 ทุกท่านครับ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 771 views