จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 57 – ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา

Newsletters

การวิจัยเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญาในบริบทการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทย

รศ.ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์
สุนทรียา สาเนียม

       

          ฟลาแวล (Flavell, 1976,1979) กล่าวว่า การคิดอภิปัญญา (Metacognition) คือ ความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีต่อกระบวนการคิดของตนเองและสิ่งที่ตนเองรู้ ว่ารู้อะไร และรู้ได้อย่างไร จะทำอย่างไรถึงจะบรรลุเป้าหมาย ต่างจากปัญญา (Cognition) ที่หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้อะไรก็ตามด้วยความเข้าใจ ซึ่งมีกระบวนการทำงานของสมอง (attention) ความจำ (memory) ทำให้บุคคลเกิดความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ

          หากการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ใช้กลวิธีของการคิดอภิปัญญาจะช่วยให้ผู้สอนหรือนักการศึกษาทราบถึงสาเหตุที่มาของปัญหาการเรียนวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนได้อย่างละเอียดและสามารถแก้ไขได้ตรงตามกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งนี่อาจจะเป็นมิติใหม่ ๆ ที่ส่งผลให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยไปได้ใกล้กับคำกล่าวที่ว่า “วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์”  และนอกจากนั้น การที่ผู้สอนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการคิดอภิปัญญาจะทำให้ผู้สอนสามารถส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมให้กับเด็กในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการพัฒนาการคิดอภิปัญญา และสุดท้ายเมื่อเด็กเกิดคุณลักษณะที่สำคัญของการคิดอภิปัญญาต่อการเรียนรู้ของเขาแล้วนั้น ย่อมส่งผลต่อการเรียนวิชาการที่มีประสิทธิภาพและเกิดเป็นความรู้ที่คงทน ซึ่งตรงกับ Blank (2000) กล่าวว่า การคิดอภิปัญญาจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้ถูกต้องตามความเข้าใจของตนเองที่มีผลทำให้ความรู้ความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดความคงทน

          การจะทำให้ผู้เรียน ค้นพบ รู้จัก และเข้าใจกระบวนการคิดของตนเองได้มากขึ้น “การคิดอภิปัญญา” เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนควรผลักดัน ให้เด็กค่อย ๆ เรียนรู้ และทำความเข้าใจวิธีเรียนรู้ของตนเอง ไปสู่การรู้จริง เป็นลำดับขั้น ที่ผ่านการทบทวน วางแผนทำความเข้าใจ จนสามารถนำพาตนเองไปสู่การอยากที่จะเรียนรู้ อยากที่จะรู้วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลผ่านการคิด อยากที่จะตรวจสอบความคิดความเข้าใจของตนเอง ตลอดจนกลายมาเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง นำมาซึ่งขีดความสามารถในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และมากไปกว่านั้น ยังสามารถพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์ให้ทันและเหมาะสมกับยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะโลกปัจจุบันต้องการความแตกต่าง การได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้มีเพียงทางเดียว คำตอบเดียว วิธีการเดียวอีกต่อไป

ด้วยความสำคัญของการคิดอภิปัญญาดังได้กล่าวมาแล้ว ทักษะการคิดอภิปัญญาจึงเป็นตัวแปรวิจัยที่ได้รับความสนใจมาเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การวิจัยเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญานั้นมีความลำบากเนื่องจากการคิดอภิปัญญามีความเป็นนามธรรมเนื่องจากเป็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นภายในแต่ละบุคคล  จากภาวการณ์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย พบว่า การคิดอภิปัญญาเป็นทักษะหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอน สามารถจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ได้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของยุคสมัยปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 1 ความถี่ของการวิจัยเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญาในบริบทการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2016.

ผู้เขียนได้สำรวจงานวิจัยเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญาในบริบทการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยผ่านฐานข้อมูล ThaiLIS (Thailand Library Integrated System) ระหว่างปี ค.ศ. 2001 – 2016 พบว่ามีทั้งหมด 22 การศึกษา โดยแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ระดับประถมศึกษา จำนวน 3 การศึกษา 2)  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 10 การศึกษา และ 3) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 9 การศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ผลกระทบของการคิดอภิปัญญาต่อตัวแปรตามอื่น ๆ 9 เรื่อง กลวิธีการสอนเพื่อพัฒนาการคิดอภิปัญญา 7 เรื่อง การพัฒนาเครื่องมือวัดการคิดอภิปัญญา 3 เรื่อง โมเดลความสัมพันธ์ของการคิดอภิปัญญา 2 เรื่อง และปัจจัยที่ส่งผลต่อการคิดอภิปัญญา 1 เรื่อง ซึ่งจะเห็นว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72.73) ของงานวิจัยเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญาเกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบของการคิดอภิปัญญาต่อตัวแปรตามอื่นๆ และกลวิธีการสอนเพื่อพัฒนาการคิดอภิปัญญา อนึ่ง ในงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการคิดอภิปัญญาต่อตัวแปรตามอื่นๆ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา (5 เรื่อง) และงานวิจัยเกี่ยวกับกลวิธีการสอนเพื่อพัฒนาการคิดอภิปัญญาจะใช้การสอนที่หลากหลาย อาทิ การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry) วงจรการเรียนรู้ (Learning cycle) ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) ปัญหาปลายเปิด การสร้างองค์ความรู้ และไตรสิกขา เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับจำนวนการศึกษาในบริบทการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ การศึกษาเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญาต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ยังคงขาดแคลน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญาในกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของผู้เรียนให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป


ที่มา: Sanium, S. & Buaraphan, K. (2019). Research about metacognition in science education: a case of basic education in Thailand. Journal of Physics: Conference Series, 1340(012014), 1-10.

เอกสารอ้างอิง
ข่าวสด. (2561). สสวท.ชูความรู้นำไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ปั้นนักคิด ใช้วิทย์สร้างภูมิคุ้มกัน. ที่มา: https:// www.khaosod.co.th/sci-tech/news_1475960
Blank, L.M. (2000). A Metacognitive Learning Cycle: A Better Warranty for Students Understanding. Science Education. 84(4): 486-516.
Flavell, J. H. (1976). The Development of Metacommunication. Paper presented at the Twenty–First International Congress of Psychology, Paris.
Flavell, J. H. (1979). Metacognition and cognitive monitoring: A new area of cognitive development inquiry. American Psychologist.

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (2 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 247 views